บุรีรัมย์ – ชาวบ้านไม่มีที่ทำกินจาก 4 กลุ่มกว่า 3,000 คน จับมือประกาศจุดยืนขีดเส้นตายภายใน มิ.ย.บุกเข้ายึดป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ที่หมดสัญญาเช่าทั้ง 9 แปลง กว่า 23,700 ไร่ไม่สนมติสภา อบต.และไม่หวั่นเกรงรัฐใช้กำลังสลาย ปฏิเสธเจรจาจังหวัด ขอคุยรมต.เท่านั้น ขณะที่จทน.ฝ่ายปกครองและป่าไม้กว่า 120 นาย ลงพื้นที่ทำความเข้าใจชาวบ้านและตั้งด่านตรวจสกัดทางเข้า-ออกป้องกันบุกยึด ยันไม่ใช้ความรุนแรงและอาวุธสลาย แต่พร้อมใช้มาตรการทางกฎหมาย
วันนี้ (7 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงใหญ่ 4 และกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน กว่า 3,000 คน ที่ จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหว เตรียมเข้าบุกยึดป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง ที่บริษัทเอกชนได้หมดสัญญาเช่าทั้ง 9 แปลง รวมกว่า 23,700 ไร่ทั้งหมด โดยจะไม่ให้เอกชนเช่าต่อครึ่งหนึ่งและให้ชาวบ้านเช่าทำกินครึ่งตามมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำนางรอง หลังจากได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้ชาวบ้านเช่าทำกิน มาหลายต่อหลายครั้ง
ทั้งนี้กลุ่มชาวบ้านอ้างว่าที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องขอเข้าไปเช่าพื้นที่ป่าดังกล่าวทำกิน ตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการทุกอย่าง แต่ทางภาครัฐกลับเพิกเฉย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รวมทั้งไม่ยอมตั้งตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบจัดสรรที่ดินให้เช่า
นอกจากนั้น ยังตั้งข้อสังเกตว่า มีการเอื้อประโยชน์ปล่อยให้บริษัทเอกชน เข้าไปตัดต้นยูคาลิปตัสจำนวนมากในเขตพื้นที่ป่าที่หมดสัญญาเช่า จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน อีกทั้งจะไม่ขอเจรจากับทางจังหวัดบุรีรัมย์อีกต่อไป ยกเว้นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้เท่านั้น พร้อมขีดเส้นตายภายในเดือนมิ.ย. นี้ หากรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้เสร้จสิ้น ชาวบ้านกว่า 3,000 คน จะเข้ายึดพื้นที่ป่าที่หมดสัมปทานจากนายทุน
นายสมนึก ปัดชา เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง แกนนำกลุ่มชาวบ้าน กล่าวยืนยันว่า ชาวบ้านทั้ง 4 กลุ่มได้มีมติร่วมกันว่าจะเข้าไปบุกยึดพื้นที่ป่าทั้งหมดโดยจะไม่เช่าตามนโยบายรัฐและพร้อมที่จะปักหลักต่อสู้จนถึงที่สุดไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังเข้าไปผลักดันขับไล่ แต่หากการสลายโดยใช้กำลังทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ก็อาจมีมาตรการตอบโต้ต่อสู้ในทุกรูปแบบเพราะที่ผ่านมาชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้ต่อสู้ และทำตามขั้นตอนของทางราชการทุกอย่าง แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล และจัดสรรที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปเช่าทำกินตามมติที่สัญญาไว้ร่วมกัน
“ถึงวันนี้ชาวบ้านคงไม่เจรจากับทางจังหวัดบุรีรัมย์อีกต่อไป แต่จะดำเนินการตามวิถีทางของชาวบ้านเอง หากจะมีการเจรจาต้องเป็นรัฐมนตีที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงเท่านั้น” นายสมนึก กล่าว
ขณะนี้มีชาวบ้านหลายกลุ่มทยอยเข้าจับจองพื้นที่ป่าดงใหญ่ที่หมดสัมปทานจากเอกชนแล้วหลายหมู่บ้าน เพราะความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ล้าช้า ทำให้ชาวบ้านหมดความอดทน
ด้าน นางสำราญ เพชรภักดี อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 1 บ.ลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง กล่าวว่า เมื่อเดือน พ.ค.2550 เป็นต้นมา ชาวบ้านจากหลายพื้นที่กว่า 230 ครัวเรือน ประมาณ 700-800 คน ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ป่าดงใหญ่ จำนวน 3,902 ไร่ บริเวณหมู่บ้านใหม่ร่วมใจพัฒนา หมู่ที่ 1 บ.ลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง มีการสร้างบ้านเรือนอาศัย ทำไร่ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกพืชผักสวนครัว จนถึงทุกวันนี้
ที่ผ่านมามีการร่วมตรวจสอบพื้นที่กับทางบริษัทเอกชนเอกที่ได้รับสัมปทานมาตลอด แต่ข้อมูลจากการรังวัดพื้นที่ป่าของชาวบ้านกับเอกชนไม่ตรงกัน ชาวบ้านวัดพื้นที่ได้มากกว่าเอกชนกว่า 5,000 ไร่ จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการตรวจสอบพื้นที่การของเช่าของเอกชนที่ผ่านมาอย่างถูกต้องหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันตลอดทั้งวัน ได้มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอโนนดินแดง จำนวนหนึ่ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ทั้งจากจ.นครราชสีมา และจ.บุรีรัมย์ จำนวน 123 นาย ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปบุกยึดพื้นที่ป่าดงใหญ่ ก่อนหน้าแล้วจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง กลุ่มบ้านเสียงสวรรค์ และกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน
พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งเต็นท์ทางเข้า-ออกบริเวณป่าดงใหญ่ พร้อมตรวจตรารถทุกคันที่จะผ่านเข้า-ออกบริเวณดังกล่าว รวมทั้งมีการจดรายชื่อและทะเบียนรถไว้ เพื่อป้องกันกลุ่มชาวบ้านที่จะเข้าไปบุกรุกเพิ่มขึ้น
นายสรรเพ็ชร เรืองรอง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะไม่ใช้อาวุธ และความรุนแรงเข้าไปสลายขับไล่ โดยจะเน้นสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่บุกรุกเข้าไปยึดป่าเป็นที่ทำกินว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนจะมีการออกหนังสือติดประกาศแจ้งให้ทราบในภายหลัง หากยังฝ่าฝืนก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปผลักดันให้ผู้บุกรุกทั้งหมดออกจากพื้นที่ป่าดังกล่าวต่อไป
ทางด้าน นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการระดับจังหวัด และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการที่จะเข้าไปร่วมตรวจสอบรังวัดและจัดสรรที่ป่าให้ชาวบ้าน และบริษัทเอกชน เช่าครึ่งต่อครึ่งตามมติของสภา อบต.นั้น ไม่ได้ล่าช้าตามที่กลุ่มชาวบ้านเข้าใจ เนื่องจากต้องทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง
ขณะนี้กำลังจะตั้งคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ โดยจะนำตัวแทนชาวบ้านทั้ง 4 กลุ่ม เข้ามาร่วมในการตรวจสอบรายชื่อ และจัดทำรางวัดให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
“ส่วนกรณีที่ชาวบ้านจะเข้าไปบุกยึดพื้นที่ป่าทั้ง 9 แปลงนั้น เป็นการกระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งจะทำให้กระบวนการจัดสรรที่ดินให้เช่าทำกินล่าช้าลงไปอีก หากกลุ่มชาวบ้านบุกรุกเข้าไปจริง ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายอย่างแน่นอน” นายนิรันดร์ กล่าว