บุรีรัมย์ - ชาวบ้านจาก 3 อำเภอ “โนนดินแดง-ปะคำ-ละหานทราย” กว่า 1,000 คน บุกศาลากลาง บุรีรัมย์ ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดสรรที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ที่เอกชนหมดสัญญาเช่า 9 แปลงกว่า 23,000 ไร่ ให้ชาวบ้านได้เช่าทำกินต่อ พร้อมยื่นรายชื่อชาวบ้านไร้ที่ทำกินกว่า 3,900 ราย เพื่อให้เร่งพิจารณดำเนินการ
ช่วงบ่าย วันนี้ (26 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง, กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงใหญ่ และกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จาก 3 อำเภอ มี อ.โนนดินแดง ปะคำ และ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ กว่า 1,000 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินกว่า 3,900 คน เรียกร้องให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดสรรที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จำนวน 9 แปลง รวมพื้นที่ 23,740 ไร่ ที่บริษัทเอกชนได้หมดสัญญาเช่าสัมปทาน นำมาให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินได้เช่าทำกิน
ทั้งนี้ หลังจากที่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำนางรองเจ้าของพื้นที่ได้มีมติ ให้บริษัทเอกชนเช่าทำประโยชน์ปลูกป่าเศรษฐกิจต่อ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 10,000 ไร่ ให้นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านได้เช่าเป็นที่ทำกิน
ชาวบ้าน 3 กลุ่ม ได้ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งดำเนินการจัดสรรที่ทำกิน บริเวณนี้แก่ชาวบ้านโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งยื่นรายชื่อของชาวบ้าน ที่ต้องการเช่าที่ทำกินในป่าผืนดังกล่าวรวม 70 แฟ้ม กว่า 3,900 รายด้วย
ขณะที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้ นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน หลังรับหนังสือได้รับปากกับชาวบ้านที่มาชุมนุม ว่า จะเร่งดำเนินการให้อย่างเร่งด่วน โดยจะเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ซึ่งชาวบ้านต่างพอใจได้ยอมสลายการชุมนุมและเดินทางกลับในเวลาต่อมา
นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปัญหาดงกล่าวได้มีแนวทางคลี่คลายไปมาก หลังจากชาวบ้านร้องเรียนมายาวนาน โดยทางออกของปัญหานั้น จะมีการจัดสรรที่ดินที่เอกชนหมดสัญญาเช่าให้ชาวบ้านได้เช่าทำกิน 50 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 28 พ.ค.นี้ อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่มีการเรียกร้องขอที่ทำกินในป่าดงใหญ่ผืนนี้หลายกลุ่มนั้น จะมีคณะกรรมการทั้งจากภาคส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านร่วมกันพิจารณาคัดกรอง โดยจะจัดสรรให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไร้ที่ทำกินก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะได้รับพิจารณาเป็นลำดับต่อมา ซึ่งจะดำเนินการอย่างโปร่งใสเพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ด้าน นายสมนึก ปัดชา เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า หลังจากที่ชาวบ้านได้ร่วมกันเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2546 ตอนนี้ก็เริ่มจะเห็นทางออกของปัญหา ซึ่งอยากให้รัฐเร่งจัดสรรที่ดิยผืนนี้ให้ชาวบ้านได้เช่าทำกิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จะมีชาวบ้านหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องขอที่ทำกินในป่าผืนนี้ แต่ทุกฝ่ายต้องยอมรับข้อตกลงที่จะให้ชาวบ้านในพื้นที่และไร้ที่ทำกิน มีฐานะยากจนได้รับการพิจารณาจัดสรรก่อนเป็นลำดับแรก
ส่วนปัญหาที่มีชาวบ้านร่วม 200 ราย จาก ม.1 และ ม.10 ต.ลำนางรอง ได้เข้าบุกรุกจับจองและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวแล้วในขณะนี้ ทั้งที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา กรณีดังกล่าวชาวบ้านได้รวมตัวกันเจรจาให้ชาวบ้านกลุ่มนั้นออกจากพื้นที่ภายใน 3 วันแล้ว เพื่อรอขั้นตอนการจัดสรรให้แล้วเสร็จก่อน ทั้งนี้ เพื่อความเสมอภาคของทุกฝ่าย ซึ่งหากยังไม่มีการออกจากพื้นที่ดังกล่าว ก็จะใช้มวลชนชาวบ้านกดดันต่อไป เพราะถือเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านกลุ่มอื่นที่เดือดร้อนเช่นกัน