ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทันตฯจาก 24 ประเทศเข้าร่วมประชุมที่ภูเก็ตกว่า 500 คน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ส่งเสริมสุขภาพในช่องปากเด็กวัยเรียน ระบุประเทศมีเด็กขาดเรียนเพราะปวดฟันปีละ 4 แสนคน ระบุเด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคฟันผุสูง
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่โรงแรมถาวร ปาล์มบีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ การส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 5 ประเทศไทย ปี 2552 (The 5th Asian Conference of Oral Health Promotion for School Children: ACOHPSC) ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ชมรมทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นว่า การประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนในครั้งนี้ มีทันตบุคลากร นักวิชาการ และครูจากประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย และประเทศอื่นๆ เข้าร่วมจาก 24 ประเทศประมาณ 500 คน
นอกจากการบรรยายทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการจำนวนกว่า 80 เรื่อง และนำคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาศึกษาดูงานการดำเนินการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา และโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านทันตสุขภาพ จากประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและประสบการณ์การส่งเสริมสุขภาพในช่องปากเด็กวัยเรียนร่วมกัน
พร้อมทั้งได้ร่วมกันกำหนดทิศทางในการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียน บ้าน และชุมชน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ตลอดจนสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า สุขภาพช่องปากเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น โดยการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชียเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่เหมาะสมแก่เด็กวัยเรียน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย การแก้ปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมา ทางกรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้การแปลงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็น 1 ในตัวชี้วัดของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และมีการบูรณาการจัดการเรียนรู้เรื่องทันตสุขภาพ ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีการประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบในพื้นที่นำร่อง 12 จังหวัด มีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน 25 จังหวัด รวมทั้งการเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพช่องปากและการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุด้วย”
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ ความทุกข์ทรมานจากการปวดฟัน ต้องขาดเรียนเพื่อไปรับบริการประมาณ 400,000 คนต่อปี ทำให้ฟันที่เหลือเสี่ยงต่อการผุและเหงือกอักเสบมากขึ้น การรักษาจึงทำได้ด้วยการอุดฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และถอนฟัน
โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 ปี มีความต้องการในการถอนฟันสูงถึงร้อยละ 32.70 และพบภาคใต้มีจำนวนสูงสุด โดยการแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งสมาคมผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นองค์กรที่นำแนวคิดและแนวปฎิบัติจากโรงเรียนสู่ครอบครัว และยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอีกด้วย เพราะชีวิตประจำวันของเด็กจะอยู่ที่บ้าน โรงเรียนและชุมชน
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจภาวะทันตสุขภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่องพบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มของอัตราการเป็นโรคฟันผุเพิ่มสูงขึ้นและนับเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของปัญหาด้านสุขภาพของเด็กไทย โดยเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุไปแล้วถึงร้อยละ 66 เริ่มตั้งแต่ขวบปีแรกและผุลุกลามอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ปี ส่วนเด็กอายุ 5-6 ปีเป็นโรคฟันผุร้อยละ 87.4 มีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอนและอุด 5.97 ซี่ต่อคน ในเด็กอายุ 12 ปี พบเป็นโรคฟันผุถึงร้อยละ 57 หรือประมาณ 6 ใน 10 คน มีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด 2 ซี่ต่อคน และมีสภาวะเหงือกอักเสบร้อยละ 58.9