xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.ประถม-มัธยมยังขายน้ำอัดลมให้ นร.ดื่ม เด็กไทยซดเฉลี่ย 1 ครั้ง/วัน เท่าน้ำตาล 7 ช้อนชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย เผย ร.ร.ประถมยังขายน้ำอัดลมร้อยละ 6.2 โรงเรียนมัธยมร้อยละ 30 เฉลี่ยเด็กไทยซดน้ำอัดลมเฉลี่ยวันละครั้ง รุกขยายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 100% คัดเลือก “สพท.อ่อนหวาน” ให้รางวัลมอบโล่ในการประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 5 ไทยเป็นเจ้าภาพ

วันที่ 2 มิถุนายน นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการบริโภคน้ำตาลในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจการบริโภคน้ำตาลในเด็ก พบว่า สาเหตุมาจากเครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาทิ โรคฟันผุ ภาวะโภชนาการเกินอันเป็นเหตุนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ เมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำอัดลมยังเป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง เมื่อดื่มบ่อยๆ จะเป็นสาเหตุของฟันกร่อนได้ ซึ่งจากข้อมูลกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษาสถานการณ์ด้านการจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนจากพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน ในปี 2551 พบว่า โรงเรียนประถมศึกษามีจำหน่ายน้ำอัดลม ร้อยละ 6.2 ส่วนโรงเรียนมัธยม มีจำหน่ายน้ำอัดลม ร้อยละ 30 นอกจากนี้ จากการสำรวจการดื่มน้ำอัดลมของเด็กไทยโดยกองทันตสาธารณสุขปี 2548 พบว่า เด็กดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง สูงสุดคือ 3 ครั้ง ปริมาณเฉลี่ย 200 มิลลิลิตร ทำให้ได้รับน้ำตาลเฉลี่ย 7.4 ช้อนชา/ครั้ง

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ปฏิบัติตามนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบและอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมาก เพื่อให้โรงเรียนที่ดำเนินนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมอยู่แล้วสานต่อนโยบายดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และกระตุ้นให้โรงเรียนที่ยังคงจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีเขตพื้นที่การศึกษาที่ปลอดน้ำอัดลมแล้วทั้งหมด 18 เขตพื้นที่การศึกษาจาก 12 จังหวัด จากโรงเรียนในสังกัด สพท.กว่า 3.2 หมื่นแห่ง 185 เขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ได้แก่ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ลำปาง สงขลา สิงห์บุรี

“กรมอนามัย กระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานร่วมกันคัดเลือก สพท.อ่อนหวานขึ้น โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ได้รับคัดเลือก 20 แห่ง จะได้รับเงินรางวัลเขตพื้นที่ละ 10,000 บาท และผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมและรับโล่รางวัลในการประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 5 ประเทศไทย ปี 2550 (ACOHPSC) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน ทพ.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จากการประมวลนโยบาย กฎหมาย และมาตรการนานาชาติ เกี่ยวกับการส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนของเครือข่าย พบว่า ปัจจุบันมาตรการลด หรืองดจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนได้รับการยอมรับและปฏิบัติแล้วในหลายประเทศ โดยขณะนี้หลายประเทศได้กำหนดให้มาตรการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมเป็นนโยบายระดับประเทศ หรือระดับรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา เบลเยียม สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี บราซิล ซาอุดีอาระเบีย บรูไน ไซปรัส ฟิจิ เป็นต้น

“หลายประเทศแม้ไม่ได้ออกเป็นนโยบายก็ได้ออกเป็นมาตรฐานหรือข้อแนะนำสำหรับโรงเรียน โดยเป็นความร่วมมือของโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน และด้วยแรงกดดันด้านการคุ้มครองเด็ก ขณะที่บริษัทผู้ผลิตก็ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสุขภาพเด็ก โดยให้ความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ” ทพ.ญ.จันทนา กล่าว

ทพ.ญ.จันทนา กล่าวต่อว่า สำหรับ สพท.ที่ต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการสพท.อ่อนหวาน สามารถส่งใบสมัครเข้าโครงการโดยแจ้งกลับมาที่ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ภายในเดือนกรกฎาคม 2552 โดย สพท.ทั้ง 20 แห่ง ที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับโล่และเงินรางวัลในงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ด้วย โดยเกณฑ์การคัดเลือกนั้น มุ่งเป้าไปที่โรงเรียนประถมในสังกัดสพท.โดยจะต้องปลอดจากน้ำอัดลม 100% มีการตรวจประเมินผลทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น