xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยจัดประชุมนานาชาติแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 5 ระดมทุกประเทศร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ด้วยการมีส่วนร่วมของโรงเรียน บ้าน และชุมชน

วันนี้ (11 ก.ย.) นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมถาวร ปาล์ม บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต ว่าสุขภาพช่องปากเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ทั่วโลกให้ความสำคัญไม่เฉพาะประเทศในเอเชียเท่านั้น เพราะการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชียเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่เหมาะสมแก่เด็กวัยเรียน ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และมีการบูรณาการจัดการเรียนรู้เรื่องทันตสุขภาพ ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีการประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบในพื้นที่นำร่อง 12 จังหวัด มีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน 25 จังหวัด รวมทั้งการเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพช่องปากและการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนภาคพื้นเอเชียในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ทันตบุคลากร นักวิชาการ และครู จากประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียและประเทศอื่นๆ จำนวนกว่า 500 คน จาก 24 ประเทศ จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและประสบการณ์การส่งเสริมสุขภาพในช่องปากเด็กวัยเรียนร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดทิศทางในการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของ โรงเรียน บ้าน และชุมชน เพราะหากขาดการสนับสนุนจากชุมชนแล้ว ความพยายามของภาครัฐก็ไม่สามารถ ประสบความสำเร็จได้ สำหรับประเทศไทยจากการสำรวจภาวะทันตสุขภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่องพบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มของอัตราการเป็นโรคฟันผุเพิ่มสูงขึ้นและนับเป็นปัญหาสำคัญ 1 ใน 10 อันดับแรกของเด็กไทย โดยเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุไปแล้วถึงร้อยละ 66 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขวบปีแรกและลุกลามอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ปี ส่วนเด็กอายุ 5-6 ปี เป็นโรคฟันผุถึงร้อยละ 87.4 มีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด 5.97 ซี่ต่อคน ในเด็กอายุ 12 ปี พบเป็นโรคฟันผุถึงร้อยละ 57 หรือประมาณ 6 ใน 10 คน มีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด 2 ซี่ต่อคน และมีสภาวะเหงือกอักเสบร้อยละ 58.9

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ ความทุกข์ทรมานจากการปวดฟัน ต้องขาดเรียนเพื่อไปรับบริการประมาณ 400,000 คนต่อปี ทำให้ฟันที่เหลือเสี่ยงต่อการผุ และเหงือกอักเสบมากขึ้น การรักษาจึงทำได้ด้วยการอุดฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และถอนฟัน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 ปี มีความต้องการในการถอนฟันสูงถึงร้อยละ 32.70 และพบภาคใต้มีจำนวนสูงสุด การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งสมาคมผู้ปกครอง ถือเป็นองค์กรสำหรับที่นำแนวคิดและแนวปฏิบัติจากโรงเรียนสู่ครอบครัว และยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนและชุมชนอีกด้วย เพราะในชีวิตประจำวันของเด็กจะอยู่ที่บ้าน ที่โรงเรียน และในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และในชุมชน การเพิ่มศักยภาพของเด็กและผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก ตลอดจนการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กได้” นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับกิจกรรมการประชุมครั้งนี้ นอกจากการบรรยายทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 80 เรื่อง และนำคณะผู้เข้าร่วมประชุมจาก 24 ประเทศ ศึกษาดูงานการดำเนินการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเทศบาลบางเหนียว โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา และโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่กรมอนามัยและประเทศต่างๆ ที่ร่วมประชุม จะได้นำเสนอต้นแบบการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในกลุ่มเด็กวัยเรียนของประเทศในภาคพื้นเอเชียที่สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น