xs
xsm
sm
md
lg

แม่พิมพ์ยะลาได้รับคัดเลือกเป็น “ครูเพชรน้ำเอก” ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ครูโรงเรียนบ้านท่าสาป อ.เมืองยะลา ได้รับการคัดเลือก เป็นครูเพชรน้ำเอกแห่งปีของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย เตรียมเดินทางไปรับรางวัลพร้อมเพื่อนครูทั่วประเทศอีก 9 คน 14 กันยายนนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

ในสถานการณ์ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีครูอีกหลายๆ คนที่ต้องทุ่มเททั้งกายและใจเป็นกรณีพิเศษเพื่ออุทิศให้กับการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ เพื่อจะล้างคำสบประมาทที่ว่าเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้อยคุณภาพทางการศึกษาหากเปรียบเทียบกับเด็กในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

ครูอนงค์ กุลทวี ตำแหน่งครู คศ.2 โรงเรียนบ้านท่าสาป ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเสียสละอุทิศชีวิตของความเป็นครูให้กับเด็ก ตามอุดมคติที่ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ด้วยการให้การศึกษา จนได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการรางวัลเพชรน้ำเอก ประจำปี 2551 ของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ในกลุ่มงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยการมอบรางวัลดังกล่าวนั้น ทางสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเพื่อที่จะสรรหาข้าราชการในระดับปฏิบัติ ทั่วทั้งประเทศไทย ที่ทำงานด้วยความเสียสละอย่างสูง ทุ่มเท ทั้งกายและใจ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน โดย ครูอนงค์ กุลทวี จะเข้ารับรางวัลพร้อมกับเพื่อนข้าราชการในต่างสาขาอาชีพอีก 9 ท่าน รวม 10 ท่าน ในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2552 ในเวลา 09.00-10.30 น.ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

ครูอนงค์ กุลทวี กล่าวว่า สำหรับแนวคิดวิธีการทำงานในฐานะครูผู้สอนว่า ก่อนทำการสอนครูต้องดูเนื้อหากิจกรรมของเด็กก่อนว่า เราจะให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ด้วยการนำกิจกรรมเข้าไปเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่คาดหวังหรือจุดประสงค์ที่เด็กจะได้รับ จุดเน้นที่สำคัญที่สุด คือ ให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม ให้เด็กฝึกทักษะการคิด ร่วมคิดกัน ร่วมทำกัน เพราะว่าเด็ก มีความหลากหลายไม่เหมือนกัน ความสามารถไม่เหมือนกัน จึงให้รูปแบบการสอนในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนด้วย

หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ การทำกิจกรรมแล้ว จะให้เด็กช่วยกันสรุปการเรียน หลังจากนั้น ให้เด็กนำความรู้ที่เรียนไปคิดเพื่อมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเขาด้วยว่าจะทำอะไรได้บ้าง กับตัวเองและครอบครัวของเขา และชุมชนของเขาด้วยความคิด ไม่ใช่ว่าสอนในโรงเรียนเพื่อทดสอบเท่านั้น

สำหรับการสอนในวิกฤตของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ครูอนงค์ ได้เล่าให้ฟังว่า การสอนตามเนื้อหาสาระวิชา เหมือนกัน ทั่วประเทศ อยู่ที่กิจกรรมที่เราต้องจัดให้กับเด็กเพื่อให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ ในกิจกรรมตามเนื้อหาสาระนั้น เราไม่ได้ด้อยกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากเรามีสื่อเทคโนโลยีมาเสริมได้ จะต่างอยู่เกี่ยวกับสภาพของเด็กในชุมชนตรงนี้ อาจมีปัญหาในครอบครัวในชุมชนบ้าง ส่วนปัญหาการเรียนการสอนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนเด็กมุสลิมที่มีปัญหาด้านการใช้ภาษา นั้น ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากทางโรงเรียนได้มีการกวดฝึกการใช้ภาษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาลมาแล้ว

ครูอนงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายๆ ฝ่ายได้ออกมาพูดว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงนั้นต้องแก้ที่การศึกษา ส่งเสริมการศึกษาให้มีความรู้ มีคุณภาพทัดเทียมกับเด็กๆ ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งหากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพียงแต่พูดอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองพูด ก็ถือว่ายังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งมีความแตกต่างกับคนที่ทำแล้วค่อยออกมาพูด

ดังเช่น ครูอนงค์ แห่งโรงเรียนบ้านท่าสาป อ.เมืองยะลา ที่ท่านทุ่มเททั้งกาย และใจ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชน รวมทั้งการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่ซึ่งการทุ่มเททั้งหมดนั้น สามารถทำให้เยาวชนมีความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเป็นคนดีในสังคม เพื่อพัฒนาให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น