xs
xsm
sm
md
lg

น้ำจืดรุกทะเลสาบผู้เลี้ยงกุ้งพัทลุงซื้อเกลือ-น้ำเค็มเติมซ้ำภาวะขาดทุนจากราคาตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง – เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำริมทะเลสาบสงขลา วิกฤตหนัก หลังประสบปัญหาน้ำในทะเลสาบเป็นน้ำจืด ต้องซื้อเกลือมาผสมเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต ขณะที่ราคากุ้งตกต่ำ ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ขายแล้วไม่คุ้มกับการลงทุน บางส่วนพักบ่อรอวาระใหม่ และหันเลี้ยงปลาน้ำจืดแทน

นายศักดิ์ดา มั่นนันทกุล ผู้เลี้ยงกุ้ง อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำริมทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะฝั่ง อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้ทยอยเลิกเลี้ยงกุ้งกันแทบหมดแล้ว เนื่องจากทะเลสาบสงขลา มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ เกิดขาดแคลนน้ำเค็ม ถ้าจะเลี้ยงจะต้องซื้อน้ำเค็มจากฝั่งอ่าวไทย มาเติมกับน้ำจืด หรือไม่ก็ต้องหันซื้อเกลือมาจาก จ.สมุทรปราการ คราวละถึง 15 ตัน จนทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งกุลาดำสูง แต่เมื่อจำหน่ายกุ้งแล้วประสบภาวะการขาดทุน เพราะในขณะนี้ราคากุ้งกุลาดำราคาไม่สูง

“เดิมนั้นน้ำเค็มจะเข้าฝั่ง อ.ปากพะยูน ราวเดือนเมษายน แต่มาในระยะหลังน้ำเค็มจะไม่มาตามฤดูกาล โดยเฉพาะในปีนี้แม้อยู่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมแล้วก็ยังไม่มีน้ำเค็มเข้ามา เพราะมีฝนตกเป็นระยะเวลานาน ยิ่งทำให้ทะเลสาบจืดจึงเป็นโอกาสผู้เลี้ยงสัตว์น้ำจืดเสียเป็นส่วนใหญ่” นายศักดิ์ดา กล่าว

นายสุชาติ เตชะนราวงศ์ ฝ่ายพัฒนาส่งเสริมอาชีพ สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ในจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประกาศเป็นเขตเลี้ยงกุ้งบางพื้นที่ของ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ส่วนพื้นที่อื่นๆ หากมีการทำนากุ้งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม จะมีการรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่เกษตรต่างๆ เช่น นาข้าว เป็นต้น พื้นที่เลี้ยงกุ้งจังหวัดพัทลุงตอนฟื้นฟูมีประมาณ 3,000 ไร่ แต่มาขณะนี้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับปัญหาที่เกิดกับผู้เลี้ยงกุ้งนั้นจะต้องใช้เงินทุนที่สูงมากจึงเกิดความเสี่ยง ปัจจัยสำคัญเพราะเศรษฐกิจโลกโดยรวมถดถอยลง ทำให้กุ้งออเดอร์ยอดถดถอยตามไป
 
ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงกุ้งไทยก็มีคู่แข่งขันมาก กุ้งประเทศอื่นๆ ราคาถูก จึงมีการหันไปบริโภคกัน แม้กุ้งเมืองไทยมีจุดแข็งที่เป็นจุดขายที่มีคุณภาพสูงมากของโลก แต่เมื่อภาวะความต้องการบริโภคกุ้งอยู่ในช่วงขาลง เกษตรกรจึงต้องชะลอจนกว่าราคาและสถานการณ์จะดีขึ้น ปัจจุบันจึงมีการพักบ่อกุ้งไว้ก่อน หรือบางรายหันไปเลี้ยงปลานิล ปลากะพง แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น