ตรัง - ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ แสดงความเป็นห่วง และขอให้ประชาชนระมัดระวังในการรับประทานยารักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ตามที่ได้เกิดการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อ คือ ยุงลาย ซึ่งมีชุกชุมในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างชื้น เพราะมีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ปริมาณยุงจะเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนในหลายจังหวัดได้รับเชื้อดังกล่าว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ได้รับเชื้อไข้ดังกล่าว จะมีอาการเป็นไข้ ปวดข้อ และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายของผู้ได้รับเชื้อเป็นเวลานานนับเดือน แม้เชื้อจะไม่ส่งผลถึงขึ้นให้เกิดการเสียชีวิตก็ตาม แต่ประชาชนผู้รับเชื้อไข้จะทรมานจากอาการปวดข้อกระดูก ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษา แต่ก็มีประชาชนผู้ได้รับเชื้ออีกมากเช่นกันที่นิยมซื้อยามารับประทานเอง ทั้งยาแผนโบราณ ยาแก้ไข้ทั่วไป หรือนำพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ที่ได้รับการบอกเล่าว่า สามารถถอนพิษไข้ได้มาปรุงรับประทานเองนั้น
นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ในฐานะเลขานุการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ทางศูนย์ โดยเฉพาะ นายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ก็ได้แสดงความห่วง พร้อมฝากย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งความจริงแล้วโรคไข้ปวดข้อยุงลายนี้ เมื่อไปพบแพทย์ก็จะจ่ายยาแก้ปวดไข้ธรรมดามาให้รับประทานก็จะหายได้ หรือหากจะเป็นยาอื่นๆ ก็อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
นายแพทย์สาธิต กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนบางแขนงที่พูดถึงเรื่อง หญ้าแห้วหมู ว่า เมื่อนำมาผสมกับน้ำปัสสาวะของตนเอง ซึ่งกำลังมีอาการไข้ปวดข้อยุงลาย แล้วนำไปดื่ม จะสามารถทำให้หายจากอาการไข้ปวดข้อยุงลายได้นั้น อยากจะเตือนพี่น้องประชาชนว่า ในส่วนของน้ำปัสสาวะนั้น ในทางการแพทย์ไม่มีผลวิจัย และไม่มีเหตุผลทางวิชาการมายืนยันได้ว่า สามารถรักษาโรคได้ ซึ่งน้ำปัสสาวะจากร่างกายคน ก็คือ ของเสียที่ร่างกายขับออกมา ดังนั้น หากนำมาดื่มกิน ประชาชนอาจจะได้รับเชื้อโรคได้ จึงไม่ควรจะหลงเชื่อข่าวดังกล่าว แต่ในส่วนของหญ้าแห้วหมูนั้น ก็จัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีผลวิจัยทางวิชาการเช่นกันว่า สามารถรักษาโรคนี้ได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการติดตามข่าวสาร
ส่วนกรณีเรื่องยาเขียวที่นำมาผสมกับน้ำมะพร้าว เมื่อดื่มแล้วทำให้สามารถรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้นั้น เรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบว่าจะสามารถรักษาได้หรือไม่ แต่ถ้าให้วิเคระห์ตามหลักวิชาการแล้ว ยาเขียว จัดได้ว่าเป็นยาสมุนไพรแผนโบราณ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาโบราณไว้ และมีสรรพคุณในการลดไข้ จึงคิดว่าเมื่อเป็นยาแผนโบราณที่วางจำหน่าย และคนไทยก็รู้จักกันมานาน คงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อกินแล้วอาจจะทำให้ไข้ลดไปได้ ส่วนน้ำมะพร้าวก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีหลักวิชาการยืนยันเช่นกันว่า นำทั้งสองชนิดมาผสมกันแล้วจะสามารถรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้
ดังนั้น จึงอยากจะฝากเตือนพี่น้องประชาชนทุกท่าน หากมีอาการเป็นไข้ ไม่สบาย ด้วยโรคหนึ่งโรคใด ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยโรค นอกจากนั้น ในส่วนของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ปัจจุบันทุกโรงพยาบาล และสถานีอนามัย ได้เปิดคลินิกเฉพาะขึ้นมารองรับผู้ป่วย ประชาชนจึงสะดวกในการเข้ารับการรักษาได้มากขึ้น