xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี” เปิดช่องยุบสภาหนีสอบ ส.ส.ถือหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม
“สดศรี” เผยไต๋อาจยื่นให้ที่ปรึกษา กม.พิจารณาผลสอบ ส.ส.พิษไข้หุ้น ก่อนนัดลงมติ 14 ก.ค.เปิดช่องหากสภายุบ การพิจารณา ส.ส.ถือหุ้นต้องยุติ รอลุ้น กกต.พิจารณาทันก่อนยุบสภาหรือไม่

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการพิจารณาสำนวน ส.ส.28 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กกต.จะลงมติในวันอังคารที่ 14 ก.ค.นี้ว่า หลังจากได้รับสำนวนมาแล้วตนยังไม่ได้ศึกษา แต่คิดว่าในช่วงหยุดยาว 4-5 วันนี้จะไปนำกลับไปศึกษาดูว่า สำนวนที่คณะอนุกรรมการฯส่งขึ้นมานั้น เสนอมาอย่างไร และเหมือนกับคณะอนุกรรมการที่พิจารณา 61 ส.ส.หรือไม่ ส่วนในประเด็นของภรรยาและบุตรที่ยังสอบไม่เสร็จและอาจต้องไปสอบต่อ หากเป็นเช่นนั้นก็คงจะยังลงมติไม่ได้ เพราะอาจจะต้องนำไปสอบต่อ แต่หากว่ามีการสอบมาแล้ว ผลสอบแตกต่างจากเกณฑ์ที่ กกต.พิจารณาไปในกรณีของ ส.ว. ก็จะต้องส่งให้คณะที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการดำเนินการสำนวน ส.ส.จะต้องสอดคล้องกับการพิจารณาสำนวน ส.ว.

“ทั้งนี้ต้องดูให้ดีว่าก่อนสรุปสำนวนได้มีการดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ แต่เท่าที่รับสำนวนของ ส.ส.28 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีไม่มากบางมาก ดูเหมือนจะมีไม่กี่แผ่น ซึ่งเราจะไม่ว่ากันถ้ามีการสรุปอยู่บนบรรทัดฐานหรือมาตรฐานเดียวกัน แต่ถ้าสรุปแบบลวกๆ หรือจะมาบอกว่าต้องรีบสรุปเพราะ กกต.เร่งก็ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนและรัดกุม เพราะเรื่องจะต้องไปสู่ศาลที่จะเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นจะทำตามใจไม่ได้ จึงต้องทำให้รอบคอบที่สุด” นางสดศรี กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวนี้มีแนวโน้มอาจจะต้องใช้เวลาสอบอีก กกต.จะพิจารณาได้ก่อนที่จะมีการยุบสภาหรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาให้ครบทุกขั้นตอน ตามกระบวนการ หากมีการยุบสภาไปก่อนการพิจารณาส.ส.ก็อาจจะต้องยุติไป เพราะ ส.ส.ที่ถูกร้องไม่มีแล้ว แต่การดำเนินการในส่วนของส.ว.ก็จะยังอยู่ไม่ได้ยุบไปตาม ส.ส. ดังนั้น เมื่อ กกต.ส่งสำนวนไปให้กับประธานวุฒิสภาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เมื่อถามอีกว่า กรณีที่อนุกรรมการฯมีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องลักษณะของบริษัทสัมปทานรัฐ กกต.จะดำเนินการอย่างไร นางสดศรีกล่าวว่า หากมีประเด็นในเรื่องดังกล่าว กกต.ก็อาจจะต้องส่งให้ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะเห็นคนละทางกับที่เราได้ลงมติไปแล้วไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะลงมติก็ต้องมีเหตุผลที่รองรับเพียงพอ แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ในที่สุดท้ายศาลจะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดเองขนาดศาลยังมีถึง 3 ศาลเลย ศาลแรกไม่ถูก ศาลที่ 2 ที่ 3 ก็จะแก้ให้เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น