กระบี่ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปักหลักแนวเขตที่ดินป่าชายเลน เพื่อป้องกันการบุกรุกให้มีแนวเขตที่ชัดเจน
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่บริเวณป่าชายเลน หมู่ที่ 7 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ นายวิชาญ ทวิชัย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายเวซากิ โควเฮ ประธานบริษัท Pasco บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เกี่ยวกับการทำแผนที่และจัดการรังวัดหมายแนวเขตที่ดินป่าชายเลน พร้อมเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำพิธีปักหลักเสากั้นเขต ระหว่างพื้นที่ของประชาชนและพื้นที่ของป่าชายเลน ตามโครงการรังวัดหมายแนวเขตที่ดินป่าชายเลน
โดยการปักหลักหมายแนวเขต จังหวัดกระบี่ โดยที่เสามีข้อความว่า ทช.แนวเขตป่าชายเลน เพื่อป้องกันการบุกรุกให้มีแนวเขตกั้นพื้นที่ให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่บก สามารถตรวจสอบ กรณีเกิดปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการเข้าไปจับกุมของเจ้าหน้าที่มักจะถูกอ้างจากผู้บุกรุกเสมอว่าแนวเขตไม่ชัดเจน
นายวิชาญ ทวิชัย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การที่มีแนวเขตชัดเจนเพื่อใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ ถ้าไม่มีแนวเขตไม่มีหลักที่ชัดเจนก็ไม่สามารถที่จะตรวจสอบและทำการรับรองสิทธิ์ได้ ซึ่งถ้ามีแนวเขตและใครที่อยู่มาก่อน หรือมีหลักฐานทางที่ดินที่ออกมาโดยชอบของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโฉนด น.ส.3 ถ้าออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ในอดีต ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ยอมรับ แต่ถ้าไม่ได้มาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะต้องทำการเพิกถอน เอกสารสิทธิ์นั้นตามกฎหมายในอนาคต การเพิกถอนนั้นอาจจะทำโดยการผ่านกระยวนการยุติธรรม โดยอำนาจของศาล
“ซึ่งถ้าเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อเท็จจริง คือ ทำประโยชน์ มาก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 จริง ทางกรมฯก็จะให้สิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะไม่มี สค1 หรือจะทำมาก่อน พ.ศ.2497 แต่ปี 2497 จะต้องไม่ไปทับป่าคุ้มครองของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองป่า พ.ศ.2481 ถ้าออกมาทำกินหลังปี 2481 จะถือว่าได้มาโดยมิชอบเหมือนกัน”
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินคดีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดกระบี่ ในปี 2552 มีผลงานการจับกุม จำนวน 12 คดี ที่ดำเนินคดีไปแล้ว บนพื้นที่บุกรุก 60 ไร่เศษ ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดกระบี่ที่มีอยู่จริงประมาณ 219,000 ไร่ เป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากจังหวัดพังงา และในปี พ.ศ.2551 จับดำเนินคดีอยู่ 45 คดี พื้นที่ 344 ไร่ ปีพ.ศ.2550 จับดำเนินคดีอยู่ 15 คดี พื้นที่ 141 ซึ่งในปี พ.ศ.2552 มีการบุกรุกน้อยที่สุด คือ 60 ไร่ 12 คดี เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2551, พ.ศ.2550
ในส่วนของเจ้าหน้าที่นั้นคงจะต้องทำงานอย่างเข้มงวด เพื่อที่จะรักษาพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดกระบี่ ให้มีความสมบูรณ์ ใครบุกรุกก็จะต้องจับดำเนินคดีตากฎหมาย โดยให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล เป็นผู้ตัดสินแต่ละคดีที่ได้ดำเนินจับกุมในแต่ละครั้ง