ศรีสะเกษ- ม็อบสมัชชาคนจนยันปักหลักชุมนุมสันเขื่อนราษีไศล จนกว่าปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจาก “เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา” จะได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล หลังยืดเยื้อมานานกว่า 16 ปี 9 นายกฯ 10 รัฐบาล จวกกรมชลฯสุดแสบ ทำตัวเป็นรัฐอิสระเล่นแง่เตะถ่วงตลอดเวลาและบิดเบือนไม่ยอมดำเนินการตาม มติ ครม.ปี 43 ทั้งการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิทรัพย์สิน-ที่ดินทำกิน และจ่ายค่าชดเชย เพื่อบรรเทาความร้อนเดือดร้อน ปชช.
วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน (สคจ.) ในเขต อ.ราษีไศล และ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ติดต่อกันเป็นวันที่ 7 พร้อมจัดกิจกรรมเปิดเวทีให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา และรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนในหมู่บ้านรอบเขื่อนราษีไศล และในเขตตัว อ.ราษีไศล อย่างต่อเนื่อง
นายสำราญ หอกระโทก แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า พวกเราได้จัดขบวนรณรงค์ในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจที่ตรงกันและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาเขื่อนหัวนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐพยายามดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยที่ยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และจะก่อให้เกิดผลเสียสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นโครงการก่อสร้างจากเขื่อนราษีไศล ที่การศึกษาผลกระทบและการตรวจสอบทรัพย์สินที่ดินทำกินของชาวบ้านยังไม่แล้วเสร็จ ก็ปิดประตูเขื่อนเก็บกักน้ำกทำให้มีปัญหาหลายอย่างตามมา กระทั่งปัจจุบันชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนก็ยังไม่ได้ค่าชดเชยที่ดินทั้งไร่นา และป่าสาธารณประโยชน์อีกจำนวนมากที่จากเขื่อนไล่เข้าท่วม
นายแดง คาวี แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา อีกคนกล่าวว่า การชุมนุมของชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทั้ง 2 เขื่อนผ่านมาแล้ว 7 วัน ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรในการแก้ปัญหาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในทางกลับกันกรมชลประทานพยายามเข้ามาแบ่งแยกมวลชนชาวบ้านด้วยการสร้างความสับสน ในการตรวจสอบที่ดินทำกินและรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาชุมนุมถึงขั้นนี้แล้วพวกเราจะยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง หากไม่บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหา พวกเราก็จะไม่ถอยเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมการเพื่อเจรจากับสำนักงานชลประทานที่ 8 รวมทั้งเตรียมข้อมูล เอกสารเพื่อไปประชุมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ของรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.)
ขณะที่ นายสุข จันทร แกนนำชาวบ้านเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า การเข้าปักหลักชุมนุมที่สันเขื่อนราษีไศล เพราะเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนานั้นปัญหายืดเยื้อมานาน หลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ไข อยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพวกเรา และพวกเราไม่ได้มาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร โดยจะปักหลักชุมนุมต่อไปเพื่อทำการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกันนี้ (10 มิ.ย.) กลุ่มสมัชชาคนจนที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณสันเขื่อนราษีไศล ดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ผ่านมาแล้ว 16 ปี ผ่านการบริหารงานของ 9 นายกรัฐมนตรี 10 รัฐบาล 2 หน่วยงาน แต่ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม
แม้ว่า ในปี 2543 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทั้ง 2 เขื่อน โดยกรณีเขื่อนหัวนา มีมติให้ระงับการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเด็นที่ไม่เคยห่างหายไปจากความกังวลของชาวบ้านเลย คือ การนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยนักการเมือง ให้มีการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อบังคับน้ำให้ไหลผ่านบานประตูเขื่อนหัวนา ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบ
การตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบใช้เวลา 7 ปีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะกรมชลประทานหน่วงเหนี่ยว ไม่อยากรับรองสิทธิ์ ล่าสุดมติการประชุม 29 ม.ค. 2552 ถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบิดเบือน โดยแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งกรรมการไม่ให้มีอำนาจรับรองการตรวจสอบทรัพย์สิน
แถลงการณ์ระบุต่อว่า ขณะที่ กรณีราษีไศล ครม.ปี 2543 มีมติให้เปิดประตูน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการแพร่กระจายของดินเค็ม และผลกระทบทางสังคม ตลอดจนเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดิน แต่จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้แม้แต่ประเด็นเดียว
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาค่าชดเชยที่เหลือ ซึ่งได้หลักการที่ชัดเจนหมดแล้วว่าให้ใช้มติคณะรัฐมนตรี 1 ก.พ. 2543 ในการพิสูจน์ที่ดินทำกินและจ่ายชดเชยในราคาไร่ละ 32,000 บาท แต่หลังจากนั้นกลไกการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในมือกรมชลประทาน กลับไม่ทำงาน มีการเล่นแง่หน่วงเหนี่ยวตลอดเวลา นอกจากนั้นปัญหาอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้า เช่น กรณี นานอกอ่าง และการศึกษาผลกระทบ
สมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ได้ชุมนุมที่สันเขื่อนราษีไศลเป็นเวลา 7 วันแล้ว และขอประกาศว่า การแก้ไขปัญหาที่ยาวนาน ได้ประจักษ์แล้วว่า การบริหารของรัฐบาลโดยกรมชลประทาน ไม่มีความจริงใจ ดูถูก และตั้งใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวยืดเยื้อ ไม่แก้ไขปัญหาให้จบสักที
การแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 เขื่อนจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี หากกรมชลประทานกลับตัวกลับใจไม่ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ ยอมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2543 และ มติคณะรัฐมนตรี 25 ก.ค.2543 อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเคร่งครัด แถลงการณ์ ระบุในตอนท้าย