xs
xsm
sm
md
lg

“ทัพภาค 2” รุกผุดอ่างฯห้วยขะยุง 300 ล้าน-สร้างความมั่นคงชายแดนไทยด้านเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ธวัชชัย สมุทรสาคร รองแม่ทัพภาคที่ 2
ศรีสะเกษ - รองแม่ทัพภาคที่ 2 พร้อม ผบ.กกล.สุรนารี เข้าหารือร่วม ผู้ว่าฯศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัดฝุ่นเดินหน้าก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง” กว่า 300 ล้าน ตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนด้านไทย-กัมพูชา เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนตามเส้นทางรุกสำคัญ และพื้นที่ล่อแหลม รวมทั้งสร้างประโยชน์ด้านเกษตรและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ปชช.ในพื้นที่ เผย ตั้งคณะทำงานผู้ว่าฯนั่งประธานขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จ หลังถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายมานานกว่า 10 ปี

วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมยุทธศาสตร์จังหวัด ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ธวัชชัย สมุทรสาคร รองแม่ทัพภาคที่ 2 (รอง มภท.2)พร้อมด้วย พล.ต.ชวลิต ชุนประสาน ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) และคณะ ได้เข้าประชุมร่วมกับทางจังหวัดศรีสะเกษ นำโดย นายรพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

โดยโครงการดังกล่าวทางกองกำลังสุรนารี ได้เสนอโครงการตามแผนแม่บทการจัดระบบป้องกันพื้นที่ชายแดนในเขตภาคอีสานตอนล่าง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณเชิงเขาพนมดงรัก ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 เม.ย.2540 และได้ทำการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จเมื่อปี 2540 ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 24 เมตร สันเขื่อนยาว 618 เมตร ความจุน้ำ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 20,000 ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 309 ล้านบาท กำหนดสิ้นสุดแผนงานในปี 2553

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 2 และ กรมชลประทาน ได้ทบทวนความเห็นเมื่อปี 2534 และ ปี 2535 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กรมชลประทาน เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (เขาพระวิหาร) จำนวน 2,050 ไร่ อีก 1535 ไร่ เป็นพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ และต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตามเงื่อนไขของการขอใช้พื้นที่ของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้ชะลอโครงการไว้

ในปี 2544, ปี 2547 และ ปี 2550 ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการรวม 3 ครั้ง แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง และทางองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละลาย มีมติไม่เห็นชอบต่อโครงการดังกล่าว ทางกรมอุทยานจึงไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการได้

ต่อมาวันที่ 10 ก.ค.2551 ที่ผ่านมา กองกำลังสุรนารีได้เข้าร่วมประชุมกับทาง จ.ศรีสะเกษ โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ทำการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงดังกล่าวได้ แต่ติดปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะทางกรมอุทยานแห่งชาติ ยังไม่อนุญาตให้กรมชลประทานเข้าทำการศึกษาและใช้ประโยชน์ และ อบต.ละลายมีมติไม่เห็นด้วย รวมทั้งยังไม่ได้ข้อสรุปในการจัดสรรที่ดินทำกิน และเงินชดเชย ให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร รองแม่ทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า จากปัญหาข้างต้นทำให้โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง ไม่สามารถดำเนินการได้และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ประชุมวันนี้จึงได้มีมติให้จัดตั้งชุดคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ในการศึกษาความเป็นไปได้รวมทั้งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ได้ผลสำเร็จ โดยมอบหมายให้ นายรพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ เป็นประธานคณะทำงาน

สำหรับห้วยขะยุงเป็นช่องทางชายแดนไทย-กัมพูชา มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาสูง สลับซับซ้อน เป็นพื้นที่สูงเกื้อกูลต่อกำลังไม่ทราบฝ่ายและขบวนการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวไว้ได้จะได้เปรียบทางการทหารอย่างยิ่ง

ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าวนี้ทางกองกำลังสุรนารี จึงได้เห็นความสำคัญของการก่อสร้างสิ่งกีดขวางตามแนวทางการรุกดังกล่าว จึงได้เสนอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง ขึ้นมา

“ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนด้วยการนำกำลังทหารเข้าประจำตามเส้นทางรุกจุดสำคัญ และพื้นที่ล่อแหลม ให้สอดคล้องกับระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ชายแดน” พล.ท.ธวัชชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวซึ่งมีแผนในการช่วยเหลือชดเชยที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้ราษฎร ที่เดือดร้อนจากโครงการอย่างเหมาะสมและเป็นที่พอใจของชาวบ้านเพื่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่น้อยที่สุด ส่วนเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่านั้นต้องมีบ้างเป็นธรรมดา เพราะอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงมีความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในอนาคตหากอ่างเก็บน้ำสามารถสร้างความชุ่มชื้นขึ้นมาแล้ว เชื่อว่า ป่าไม้จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น