สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลุยสอบ 3 ประเด็น สางทุจริตนมโรงเรียน พร้อมเตรียมชง กคพ.รับเป็นคดีพิเศษภายในเดือนมีนาคม เพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว
วันนี้ (16 มี.ค.) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้สั่งการให้สำนักคดีอาญาพิเศษ ดำเนินการสืบสวนกรณีการทุจริตนมโรงเรียนตามโครงการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตนจึงได้มอบหมายให้นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ สำนักคดีอาญาพิเศษ เร่งสืบสวนกรณีดังกล่าว โดยกำหนดประเด็นในการสืบสวน ดังนี้
ประเด็นการแบ่งโซน ซึ่งประเด็นนี้มีที่มาจากพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ.2551 โดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิจำหน่ายนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการรับรองสิทธิการจำหน่ายนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการแบ่งโซนออกเป็น 3 โซน อาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายใดนอกเขตโซนนิ่งมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 ซึ่งประเด็นนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ได้สรุปเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปแล้ว
ประเด็นการจัดซื้อนมโรงเรียน จากการสืบสวนของชุดปฏิบัติการ ปรากฏว่าพบหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะการจัดซื้อนมโรงเรียนของจังหวัดชุมพร พบว่า ผู้เสนอราคาได้เสนอราคาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 หรือ “ฮั้วประมูล” ซึ่งชุดปฏิบัติการจะได้ขยายผลการตรวจสอบให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเชื่อว่าจะได้พยานหลักฐานเกี่ยวกับการฮั้วประมูลและสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากปรากฏว่า สัญญาในการจัดซื้อขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลทั่วประเทศมีมูลค่าการจัดซื้อเพียงสัญญาละ 100,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท ซึ่งประกาศ กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) เรื่อง การกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ในส่วนของคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล จะต้องเป็นคดีที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 4 และมาตราอื่นๆ ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาใน กคพ. เพื่อขอให้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ภายในเดือนมีนาคม นี้
ประเด็นการปลอมปนนม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบการผลิตของผู้ประกอบการทั้ง 68 รายแล้ว ซึ่งหากปรากฏว่าผู้ประกอบการรายใดผลิตนมไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปลอมปนนม ผู้ประกอบการ อาจมีความผิดตามมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และหากมีการนำนมผงมาผสมกับนมโคแท้ หรือนำนมผงมาผสมน้ำ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานปลอมปนอาหาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 ประกอบมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากกรณีการทุจริตนมโรงเรียน เป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมีผลกระทบทั่วประเทศ ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งดำเนินการสืบสวนสวบสวนและนำตัวผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป