xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองใหม่คือการเมืองแบบธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนมีสมมติฐานดังนี้

ประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตย ใช้อำนาจนั้นผ่านตัวแทนซึ่งเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา

การแสดงออกซึ่งผลประโยชน์ และความคิดเห็นของประชาชนมีกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอิทธิผลรองรับ

กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ในแง่ที่พรรคการเมืองรวบรวมและคัดสรรผลประโยชน์ และความคิดเห็นในรูปของนโยบาย

กิจกรรมทางการเมืองดำเนินการโดยพรรคการเมือง รัฐบาลและรัฐสภา

การเลือกตั้งเป็นวิธีการเดียวที่ใช้ในการได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชน

พรรคการเมืองสามารถเป็นกลไกหลักในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

ประชาชน กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์จะอาศัยพรรคการเมืองเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

พรรคการเมืองเป็นองค์กรเปิดที่สมาชิกสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินงานได้

จากสมมติฐานดังกล่าวนี้ ระบอบประชาธิปไตยจึงได้กำหนดให้พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และรัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองหลัก แต่ในปัจจุบันประชาชนมีการเคลื่อนไหวเป็นเอกเทศ แยกตัวออกจากพรรคการเมือง จึงก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่าง “การเมืองเก่า” กับ “การเมืองใหม่”

การเมืองเก่าการเมืองใหม่
พรรคการเมืองเป็นองค์กรเดียวที่สามารถส่งผู้สมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลุ่มประชาชนที่ไม่ใช่พรรคการเมืองส่งผู้แทนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
การเลือกตั้งทางตรงเป็นวิธิการเดียวในการได้ผู้แทนราษฎรการเลือกตั้งทางตรงเป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น ในการได้ผู้แทนราษฎร
กิจกรรมทางการเมืองเป็นบทบาทและมีหน้าที่หลักของรัฐบาลและรัฐสภากิจกรรมทางการเมืองจากองค์กรประชาชนบทบาทสำคัญ
การเลือกตั้งใช้การเป็นผู้แทนของพื้นที่การเป็นตัวแทนอาศัยกลุ่มทางสังคมเศรษฐกิจ-การเมืองด้วย
มีการใช้เงินมากในการเลือกตั้งทุนมีบทบาทน้อยลง
การเคลื่อนไหวของประชาชนแยกตัวออกจากพรรคการเมืองการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญ
พรรคการเมืองไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวโดยตรงของประชาชนการเคลื่อนไหวโดยตรงของประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง
พรรคการเมืองถูกยึดกุมโดยกลุ่มทุนที่ประกอบด้วยคนจำนวนน้อยการเมืองมีการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วม
อย่างกว้างขวาง


ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ประชาชนเคลื่อนไหวโดยแยกตัวออกจากพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการทำให้สมมติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองแบบเดิม ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจที่มุ่งรักษาเฉพาะผลประโยชน์ของตน หรือไม่ก็วางแนวทางสองลู่คือ ให้ผลประโยชน์กับประชาชนผ่านโครงการประชานิยมควบคู่ไปกับการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ “ผู้ถือหุ้น” ของพรรคการเมืองนั้น จนในที่สุดผลประโยชน์ของผู้นำพรรคการเมือง ก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ

เมื่อประชาชนมีการเคลื่อนไหวโดยตรง การเคลื่อนไหวมักจะไม่เกี่ยวกับการช่วงชิงอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมิใช่เป็นไปในลักษณะเดียวกับพรรคการเมือง เพราะขาดมิติของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ กลุ่มประชาชนจึงกลายเป็นฝ่ายค้านนอกรัฐสภา และแม้จะได้รับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกท้าทายจากพรรคการเมืองในแง่ของความชอบธรรม

การที่พรรคการเมืองไทยกับกลุ่มประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองเคลื่อนไหวเป็นเอกเทศต่อกันนี้ เป็นเพราะวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยเป็นเช่นนั้น กลุ่มประชาชนมีความแข็งแกร่งมากกว่าพรรคการเมือง จนเกิดคำถามว่า หากกลุ่มประชาชน เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่แปรสภาพกลายเป็นพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งแล้วเข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง จะมีวิธีการอื่นใดหรือไม่ที่จะรับรองความชอบธรรมของกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการเป็นพรรคการเมือง

ปัญหาก็คือ กลุ่มประชาชนประเภทนี้จะมีการจัดตั้ง มีผู้นำของตนเอง โดยแยกตัวออกจากพรรคการเมืองอย่างดีพรรคการเมืองก็สามารถเป็นแค่ “พันธมิตรชั่วคราว” ของกลุ่มประชาชนเท่านั้น

การผนวกเอากลุ่มประชาชนเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของระบบและกระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ อาจทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนมีขอบเขตจำกัด ดังนั้นวิธีการที่ดีก็คือ การยอมรับสิทธิทางการเมืองของกลุ่มประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ และต้องมีการคุ้มครองสิทธินั้นโดยศาลปกครอง และศาลสถิตยุติธรรมด้วย

การเมืองใหม่น่าจะเป็น การเมืองแบบธรรมชาติ ไม่ใช่การเมืองแบบทางการ การเมืองแบบธรรมชาติเกิดจากความรู้สึกร่วมกัน และเป็นการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจ ดังนั้นบทบาทสำคัญของการเมืองใหม่จึงน่าจะเป็นอำนาจอ้างอิง ถ่วงดุล ตรวจสอบมากกว่าอย่างอื่น

บทบาทของการเมืองใหม่ อาจไม่ใช่การทดแทนการเมืองแบบเก่า แต่เป็นไปในเชิงตรวจสอบคัดค้านจนลดระดับความชั่วของการเมืองเก่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่พรรคเดียวมีอำนาจมาก สามารถรวมพรรคเล็กๆ ไว้ได้โดยพรรคฝ่ายค้านไม่มีทางอาศัยกลไกทางรัฐสภาดำเนินการตรวจสอบถ่วงดุล “เผด็จการเสียงข้างมาก” ได้

ดังนั้น “การเมืองใหม่” จึงมีบทบาทสำคัญที่สุดในการต่อต้าน “เผด็จการโดยพรรคเดียว” เหมือนกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กระทำมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น