xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตยื่นจังหวัดทบทวนระเบิด “เขาวังหน้าหมี” แหล่งโบราณวัตถุ 3,000 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เผยเคยทำหนังสือถึงจังหวัดให้ทบทวนการอนุญาตระเบิดเขาหน้าวังหมี แต่ไม่เป็นผล เผยผลสำรวจซากโบราณวัตถุ มีอายุ 2,000-3,000 ปี

นายวิเศษ เพชรประดับ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวว่า การเข้าไปทำสัมปทานหินเขาหน้าวังหมี ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นมี นายอาณัติ บำรุงรักษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดสำรวจขุดพบซากโบราณวัตถุอายุกว่า 2,000-3,000 ปี ในถ้ำเขาหน้าวังหมี ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ จำพวกเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยโบราณ โครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางวิชาการโบราณคดี เบื้องต้นพบว่า ถ้ำเขาวังหมีเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ มีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่

ภูเขาถ้ำดังกล่าวยังเป็นกลุ่มภูเขาเดียวกับถ้ำเขานาไฟไหม้ ถ้ำเขาหลังโรงเรียน โดย ศ.ดร.ดักลาส แอนเดอร์สัน นักโบราณคดี และ ศ.ดร.ไมด์ มอร์วูด จากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เดินทางเข้าไปสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก อยู่สูงจากพื้นดินเชิงเขาประมาณ 10-12 เมตร มีเปลือกหอยเกาะติดตามเพิงผาเป็นแผงยาว กระดูกสัตว์ใหญ่โบราณฝังอยู่ใต้พื้นดินในถ้ำเช่นเดียวกัน

สามารถอธิบายลักษณะของกลุ่มถ้ำหลังโรงเรียนว่าเดิมเคยเป็นถ้ำ ต่อมาเพดานถ้ำถล่มลงมา ซึ่งในถ้ำหลังโรงเรียนพบร่องรอยหลุมฝังศพ โครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ เครื่องมือทำจากเขี้ยว และเขาสัตว์ของกระดูกขนาดใหญ่ เปลือกหอย รวมทั้งเครื่องมือหินกะเทาะ ใช้ในการดำรงชีวิตล่าสัตว์ในสมัยยุคหินกลาง ดังนั้น บริเวณดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาและการศึกษาพัฒนาการมนุษย์ในทวีปเอเชีย และเป็นข้อมูลอ้างอิงประวัติศาสตร์โลกยุคแรกของทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดี

ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวอีกว่า บริเวณถ้ำเขาหน้าวังหมี มีผลต่อการศึกษาทางโบราณคดีเป็นอย่างมาก ซึ่งนายอาณัติ บำรุงรักษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ในขณะนั้น เกรงมีปัญหาว่า บริเวณเขาหน้าวังหมีมีการทำเหมืองหินของบริษัทเอกชน เกรงว่าแรงระเบิดหินจะทำลายและสร้างความเสียหายหลักฐานทางโบราณคดี จึงทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีคำสั่งระงับการทำสัมปทานเหมืองหินเป็นการชั่วคราว

จากนั้นทางกรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ เรื่อง การทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงบริเวณเขาหน้าวังหมี เป็นหนังสือกรมศิลปากร (ลับ) ที่ วธ 0401/4584 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2550 มีใจความว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับการสัมปทานระเบิดและย่อยหิน กรมศิลปากรจึงขอพิจารณาข้อเท็จจริงทางวิชาการทางโบราณคดีที่ดำเนินการโดยห้างหุ้นส่วน จำกัด จิตรปฏิมา อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบหมายให้ทางสำนักงานโบราณคดี พิจารณาโดยนักโบราณคดี ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณารายงาน หลักฐานการสำรวจ การลงพื้นที่สำรวจในบริเวณที่ขุดพบหลักฐาน และการตรวจวัตถุต่างๆที่พบ ปรากฏผลการพิจารณาดังนี้

1.จากรายงานการสำรวจและวิเคราะห์ การขุดค้นทางโบราณคดีแสดงว่าได้พบวัตถุ หลักฐานต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษา ค้นคว้า และการตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ต่อไป

2.การดำเนินการในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับตามประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม จึงควรจะมีการอนุรักษ์ ป้องกัน มิให้วัตถุหลักฐานที่ขุดค้นในชุดสำรวจต่างๆที่พบในพื้นที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้มอบได้หมอบหมายให้ทางผู้อำนวยการสำนักศิลปะปากรที่ 15 ภูเก็ต เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการและประสานงานต่อไป ลงชื่อนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร

ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวอีกต่อไปว่า จากนั้นนายอาณัติ บำรุงรักษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตที่รับหน้าที่อยู่ในขณะนั้น ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น ซึ่งตนก็เข้ามาทำหน้าที่แทน และก็ได้ทำหนังสือไปยังจังหวัดกระบี่ ตามหนังสือของทางอธิบดีกรมศิลปากร ให้มีพิจารณาการระเบิดหินของบริษัทเอกชนดังกล่าวหลายครั้ง เนื่องจากจังหวัดกระบี่มีอำนาจในการสั่งหยุดการระเบิดหิน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆจากทางจังหวัดกระบี่ ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าจังหวัดกระบี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรกันอยู่ ทางสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต มีอำนาจหน้าที่แค่ทำหนังสือเพื่อบอกถึงแหล่งโบราณคดี แต่ไม่มีสิทธิ์ไปสั่งระงับการระเบิดหินได้

กำลังโหลดความคิดเห็น