ยะลา - ชาวบ้านตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต รวมตัวฟื้นบ่อดินที่มีอยู่ก่อน 140 บ่อ จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลา รองรับการแปรรูปเป็นปลาส้ม หลังจากราคายางพาราตกต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจาก จ.ยะลา และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลางทั้งในเรื่องพันธุ์ปลา และเงิน
ชาวบ้านบ้านแหร หมู่ที่ 1 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา จำนวน 60 ครัวเรือน ได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มตัวเลี้ยงปลาในบ่อดิน หลังหมู่บ้าน จำนวน 140 บ่อ ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลากินเพื่อการแปรรูป ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดยะลา ได้สนับสนุนพันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 33,000 ตัว ปลายี่สกเทศ จำนวน 7,000 ตัว พร้อมอาหารปลาจำนวน 180 กระสอบ พร้อมจัดตั้งกลุ่มแปรรูป ทำปลาส้ม จำนวน 1 กลุ่ม มีสมาชิก 15 คน ในขณะเดียวกัน ทางกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง ได้สมทบเงินสนับสนุนอีก จำนวน 200,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้มีรายได้เสริม นอกเหนือจากรายได้หลักจากการทำสวนยาง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ชาวบ้านได้ทิ้งบ่อดินเลี้ยงปลา ที่ทางกรมชลประทานได้ขุดให้พร้อมจัดระบบระบายน้ำเป็นอย่างดี ปล่อยให้รกร้างโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นเวลากว่า 4 ปี แต่หลังจากราคายางตกต่ำลง ชาวบ้านเริ่มขาดรายได้ จึงได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาเพื่อดำเนินการอีกครั้ง เพื่อหารายได้เสริมด้วยการเลี้ยงปลา มาแปรรูปเป็นปลาส้มเพื่อการจำหน่าย ประกอบกับทางจังหวัดยะลา ได้กำหนดให้อำเภอธารโตเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มีความเหมาะสมการเลี้ยงปลาน้ำจืด ด้วย
นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลา โดยทีมงานระดับอำเภอได้พิจารณาว่า การส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านควรที่จะมีจุดหลักในการให้การส่งเสริมอาชีพของแต่ละอำเภอแต่ละพื้นที่ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพืชผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นหลักของอำเภอไว้ อำเภอละ 1 ผลิตภัณฑ์ สำหรับพื้นที่อำเภอธารโตมีศักยภาพในการเลี้ยงปลา โดยมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง และมีหมู่บ้านกลุ่มเลี้ยงปลาอยู่ จังหวัดยะลาและสำนักงานประมงจังหวัด จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาเพื่อกินแปรรูปเป็นปลาส้มเพื่อการจำหน่าย ขึ้นที่บ้านแหร หมู่ที่ 1 แห่งนี้ เพื่อส่งเสริมเป็นหมู่บ้านประมงตัวอย่าง ทุกครัวเรือนจะเลี้ยงปลาในบ่อดิน
สำรวจพบว่าดังเดิมชาวบ้านจะมีเลี้ยงปลาในบ่อดินมาก่อนแล้ว ทั้งหมด 140 บ่อ แต่ด้วยเหตุสถานการณ์การก่อร้ายในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านละทิ้งบ่อเลี้ยงปลาให้รกร้างโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ไป ดังนั้นจึงได้เข้ามาเพื่อมาฟื้นฟูพัฒนากันอีกครั้ง พร้อมกับจัดตั้งกองทุนการพัฒนาเลี้ยงปลาหมู่บ้าน โดยให้ทุกคนเข้าหุ้นเพื่อมีส่วนร่วมกัน โดยทางราชการให้การสนับสนุนเงินทุนก้อนหนึ่ง เพื่อให้มีการเลี้ยงปลาอย่างยั่งยืน และพัฒนาการเลี้ยงปลาไปสู่การแปรรูป เป็นปลาส้ม
โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีกลุ่มปลาส้มบ้านคอกช้าง และกลุ่มปลาส้มบ้านแหร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในความอร่อยของชาวบ้านทั่วไปอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดของบ้านแหร แห่งนี้จะสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับกลุ่มแปรรูปผลิตปลาส้มในจังหวัดยะลาอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้าน นายมะเกาะสี มะแร ประธานกลุ่มเลี้ยงปลาบ้านแหร กล่าวว่า จากการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาแล้วจะทำให้ชาวบ้านมีปลาให้บริโภค ส่วนที่เหลือสามารถนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ในขณะเดียวกัน สมาชิกจะรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มแปรรูปเป็นปลาส้ม ให้เป็นสินค้าโอทอปของตำบลหรืออำเภอธารโตกันต่อ