น่าน – ภัยแล้งคุกคามชาวบ้าน ล่าสุดบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านปัวชัย กว่า 30 บ่อ ได้รับความเสียหาย น้ำแห้งปลาตายหมด
นายสังวร คำนันท์ นายก อบต.ฝายแก้ว และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ อบต.ฝายแก้ว และนายเกียรติ ไชยยา ผู้ใหญ่บ้านปัวชัย ม.7 ได้ออกสำรวจความเสียหายบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านในพื้นที่บ้านปัวชัย จำนวน 30 บ่อ ซึ่งขณะนี้มีสภาพน้ำแห้งหมด เหลือเพียงดินแตกระแหงให้เห็น เนื่องจากปีนี้หน้าแล้งมาเร็วกว่าทุกปี ส่งผลให้ปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาช่อน ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน และบางส่วนไว้สำหรับขายสร้างรายได้ตายทั้งหมด ได้รับความเดือดร้อนมาก
นายสังวร เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฝายแก้ว ขณะนี้มี 2 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก คือ บ้านปัวชัย ม.7 และบ้านดงป่าสัก ม.10 รวม 244 ครัวเรือน ประชากร 918 คน ทั้งนี้ส่วนใหญ่ขาดแคลนเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ส่วนพื้นที่การเกษตรก็ได้รับความเสียหาย โดยที่บ้านปัวชัย มีพืชไร่เสียหายประมาณจำนวน 100 ไร่ นาข้าว 60 ไร่ และพืชสวน 50 ไร่ ส่วนแหล่งน้ำสาธารณะ 5 แห่ง ขณะนี้น้ำลดระดับลงมาก
อย่างไรก็ตาม อบต.ได้เร่งสำรวจความเสียหายทุกหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ เพื่อได้เข้าดำเนินการช่วยเหลือ เบื้องต้นขณะนี้ทาง อบต.ฝายแก้ว ได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้อน้ำประปา ในราคาคันรถละ 200 บาทจากการประปาส่วนภูมิภาคเข้าแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้าน และนำเติมไว้ในถังเก็บกักน้ำประจำหมู่บ้าน สำหรับให้ประชาชนได้มารองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดน่านเริ่มขยายวงกว้าง สภาพแหล่งน้ำต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำน่าน แม่น้ำสายหลักของจังหวัด เริ่มแห้งขอดจนมองเห็นพื้นดิน สามารถเดินข้ามผ่านไปได้ นอกจากนี้บ่อน้ำสาธารณะและบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดเอาไว้ เริ่มแห้งขอด และจังหวัดน่าน ได้ออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง แล้ว 8 อำเภอ
นายธวัช เพชรวีระ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดน่านได้ประกาศ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปัว, เชียงกลาง ,บ้านหลวง, สองแคว ,แม่จริม ,นาหมื่น, บ่อเกลือ และภูเพียง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วหลังพบประชาชนจำนวน 1 หมื่น 8 พัน 2 ร้อย ครัวเรือน ใน 33 ตำบล ได้รับความเดือดร้อนขาดน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร
ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจในระดับจังหวัด อำเภอ และให้ทุก อบต.เร่งออกสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อดำเนินการเข้าช่วยเหลือ และได้เตรียมงบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและงบทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ไว้ช่วยเหลือราษฎรในอำเภอดังกล่าวแล้ว 50 ล้านบาท ซึ่งจะได้กระจายงบไปให้กับอำเภอที่ประสบภัยอำเภอละ 1 ล้านบาท เพื่อเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระดับอำเภอ