xs
xsm
sm
md
lg

กรมขนส่งทางน้ำศึกษาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพรมูลค่า 2 พัน ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมขนส่งทางน้ำฯ ศึกษาสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร มูลค่ากว่า 2 พันล้าน เป็นศูนย์กลางขนส่งทางน้ำ เชื่อมต่ออ่าวไทย-อันดามัน และภาคตะวันออก

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่โรงแรมชุมพรการ์เดนส์ อ.เมือง จ.ชุมพร บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอนไว เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทได้รับการว่าจ้างจาก กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้จัดเวทีรับฟังคิดเห็น จากหน่วยราชการต่างๆ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนใกล้เคียงพื้นที่ศึกษา เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษา รวมถึงรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในระดับจังหวัด

ร.ต.อ.ขจร เทสมาสา รองอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง ได้ข้อมูลในระดับหนึ่ง และการจัดเวทีในครั้งนี้ เป็นความคิดเห็นในภาพรวมทั้งจังหวัด ที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

ดร.มานะ ภัตรพานิช ผู้จัดการโครงการศึกษาและสำรวจออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการจัดทำรายงานฉบับสุดท้าย เพื่อส่งมอบให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี พิจารณา และนำเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติลิส่งแวดล้อม หรือ สผ.หากได้รับความเห็นชอบ ทางกรมก็จะจัดทำแผนของบประมาณ และจัดทำการสำรวจออกแบบท่าเรือ ที่สามารถก่อสร้างได้จริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ส่วนงบประมาณที่ใช้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1,500-2,300 ล้านบาท

สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ พัฒนาท่าเรือของจังหวัดชุมพร หลังจากที่ได้ศึกษาความเหมาะจำนวน 3 จุด คือ บริเวณแหลมประจำเหียง พื้นที่อำเภอสวี แหลมเทียน อ.เมืองชุมพร และแหลมคอกวาง ต.นาทุ่ง อ.เมืองชุมพร ผลการศึกษาได้เลือกให้ แหลมคอกวาง หรือหัวโม่ง หมู่ที่ 7 ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นพื้นที่ ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อใช้ขนส่งสินคาเกษตร หรือสินค้าแปรรูปอื่นๆ เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม กาแฟ สับปะรดกระป๋อง และอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยท่าเรือ จ.ชุมพร แห่งนี้จะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างทะเลอ่าวไทยด้าน จ.ชุมพร และทะเลอันดามันด้าน จ.ระนอง และเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมภาคตะวันออก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือสุราษฎร์ธานี ท่าเรือสงขลา และท่าเรือปัตตานี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น