xs
xsm
sm
md
lg

DSI ลงภูเก็ตตรวจพื้นที่ขอสร้างมารีน่าแหลมยูมู-เกาะสิเหร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - DSI ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ขอก่อสร้างโครงการมารีน่าบ้านแหลมยามู-เกาะสิเหร่ หลังชาวบ้านร้องหวั่นกระทบ สวล.-วิถีชีวิต

วันนี้ (19 พ.ย.) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้อำนวยการส่วน 1 สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วย น.ส.นลินี ทองแถม นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เจ้าหน้าที่สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงตรวจสอบพื้นที่บริเวณแหลมยามู หมู่ที่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน กรณีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนเพื่อสร้างโรงแรมที่พักและวิลล่าหรู ตลอดจนการขออนุญาตเพื่อก่อสร้างมารีน่า ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งและการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้านชายฝั่ง โดยใช้เวลาในการตรวจสอบดูสภาพพื้นที่ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นคณะได้เดินทางไปตรวจพื้นที่บริเวณบ้านแหลมหงา เกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังจะมีการลงทุนในเรื่องของการสร้างมารีน่าด้วย

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวภายหลังการตรวจสอบบริเวณชายหาดด้านหน้าโครงการก่อสร้างที่บริเวณแหลมยามูว่า การลงพื้นที่มาตรวจสอบพื้นที่ในครั้งนี้ เนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอธิบดีฯและรองอธิบดีฯ ได้สั่งการให้มาตรวจสอบกรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างบริเวณแหลมยามู และการที่ภาคเอกชนขออนุญาตก่อสร้างมารีน่าบริเวณพื้นที่หน้าชายหาดดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงได้มาทำการตรวจสอบร่วมกับทางสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่โดยทั่วไปพบว่าสภาพน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวค่อนข้างขุ่น จึงทำให้มองไม่ชัดว่าพื้นด้านล่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หลังจากการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วจะทำการรวบรวมข้อมูลในหลายด้าน เพื่อสรุปว่าปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร และจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับไปสรุป ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรและมีผลกระทบอย่างไร รวมถึงมีการทำผิดกฎหมายในเรื่องใดหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวต่อว่า จากตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่าพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีความสุ่มเสี่ยงเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะ และการทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเรื่องของภาษีที่มีคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หลบเลี่ยงไม่เสียภาษีให้กับรัฐบาล หรือกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ เรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ การรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ ดังกล่าว

ทางด้าน นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า ได้เข้ามาศึกษาบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเมื่อประมาณปลายปี 2549 พบว่าบริเวณปลายสุดแหลมยามูเคยมีแนวปะการังที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 20-30% และมีหญ้าทะเลกระจายเป็นหย่อมๆ โดยเป็นแนวต่อเนื่องกับบริเวณแนวหญ้าทะเลของป่าคลอกซึ่งเป็นแนวหญ้าทะเลผืนใหญ่ของภูเก็ต

“การลงพื้นที่ในวันนี้พบว่า มีตะกอนหน้าดินลงไปทับถมบริเวณชายฝั่งเป็นจำนวนมาก น้ำทะเลค่อนข้างขุ่นและมีสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าเป็นตะกอนจากชายฝั่ง ที่ขณะนี้แนวชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ตมีการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้าง และตะกอนถูกพัดพาลงมา จึงทำให้แนวปะการังที่มีอยู่แย่ลงไปจนแทบมองหาไม่เจอ ซึ่งคงต้องมาดูอีกครั้งว่าแนวปะการังที่มีอยู่หายไปไหน และหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงในส่วนของหญ้าทะเลด้วย”

ต่อคำถามที่ว่าบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต ไม่เหมาะที่จะสร้างมารีน่าใช่หรือไม่ ซึ่ง นางสาวนลินี กล่าวว่า คงไม่เหมาะในแง่ของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตซึ่งเริ่มลดน้อยลง ซึ่งในเรื่องของการสร้างมารีน่าควรจะดูพื้นที่ที่เหมาะสมจริงๆ ไม่มีผลกระทบกับทรัพยากรชายฝั่งมากเท่าพื้นที่บริเวณนี้ คิดว่าน่าจะมีอยู่บ้าง นอกจากนี้ น่าจะมีการส่งเสริมการใช้ท่าเทียบเรือร่วมกันโดยเฉพาะท่าเทียบเรือของรัฐที่ก่อสร้างไว้แล้ว เช่น อ่าวฉลอง แหลมหิน เป็นต้น มากกว่าที่จะให้เอกชนแต่ละรายใช้พื้นที่บริเวณหน้าที่ดินซึ่งติดทะเลทำการก่อสร้างมารีน่าของตัวเอง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมอนาคตก็จะเต็มไปด้วยมารีน่า

“ในเรื่องของการฟื้นฟูเมื่อมีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นแล้วเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการฟื้นฟูนั้นจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับทั้งปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งคือ ปริมาณหรือชนิดของตะกอนที่เหมาะสมที่หญ้าทะเลจะอยู่ หรือความใสของน้ำทะเล ซึ่งบริเวณนี้น้ำค่อนข้างขุ่นมาก โอกาสในการฟื้นตัวของปะการังหรือหญ้าทะเลค่อนข้างยาก” นางสาวนลินี กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวนลินี ยังกล่าวด้วยว่า ในแง่ของการพัฒนาคงไม่สามารถที่จะหยุด ซึ่งเราต้องยอมรับหากเรายังพึ่งพาเรื่องของการท่องเที่ยว และยังต้องมีความเจริญที่ก้าวต่อไป แต่มีวิธีการหรือไม่ที่การดำเนินการต่างๆ ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งหน่วยงานที่ควบคุมดูแลจะต้องมีความรู้และอนุญาตเฉพาะโครงการที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการก็ดำเนินการตามสิ่งที่ตัวเองเสนอไว้ซึ่งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงจะทำให้การดำรงอยู่ของทรัพยากรไปได้ควบคู่กับการพัฒนา


กำลังโหลดความคิดเห็น