xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเผย 15 ปี ฟื้นฟูปะการังเกาะไม้ท่อนสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเก็บข้อมูลในแปลงอนุบาล
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาการเผยผลสำเร็จ 15 ปีการศึกษาวิจัยเพื่อการฟื้นฟูปะการังในทะเลอันดามันบริเวณเกาะไม้ท่อนภูเก็ตพบปะการังขึ้นสมบูรณ์จนไม่สามารถแยกได้ระหว่างแนวปะการังที่มีการฟื้นฟูโดยมนุษย์และแนวปะการังที่เกิดจากธรรมชาติ พร้อมศึกษาวิจัยร่วมต่างประเทศนำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กอนุบาลเพื่อขยายพื้นที่ปลูกในบริเวณที่ต้องการฟื้นฟู

นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต และหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อฟื้นฟูปะการังในทะเลและการฟื้นฟูแนวปะการบริเวณเกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า สำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรปะการังได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังในจังหวัดภูเก็ตเมื่อ พ.ศ.2537 ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 15 ปี แล้ว โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูแนวปะการังขึ้นเป็นแห่งแรกในทะเลอันดามัน โดยใช้งบประมาณจากโครงการจัดการทรัพยากรปะการังในพื้นที่เร่งด่วน

โดยเลือกพื้นที่ศึกษาวิจัยบริเวณเกาะไม้ท่อน อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากพบว่าแนวปะการังบริเวณเกาะไม้ท่อนถูกทำลายโดยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเหตุพายุเมื่อ พ.ศ.2529 และพบว่า แนวปะการังบริเวณนี้ฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับการศึกษาในครั้งนั้นประกอบด้วยการทดลองสร้างพื้นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยใช้โครงสร้างแท่งคอนกรีตที่มีรูปทรง และความซับซ้อนแตกต่างกัน ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยพบว่าปะการังมีการลงเกาะและเจริญเติบโตได้ดีและขึ้นคลุมแท่งคอนกรีตที่สร้างขึ้นจนมิดภายในเวลา 12 ปี และขณะนี้ 15 ไม่สามารถที่จะแยกความแตกต่างระหว่างปะการังที่เกิดจากการฟื้นฟู และแนวปะการังตามธรรมชาติได้ และจากการติดตามการศึกษาวิจัยตลอดเวลา พบว่า มีสัตว์น้ำต่างๆ โดยเฉพาะปลาในแนวปะการังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นางสาวนลินี กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูแนวปะการังโดยการสร้างพื้นที่ลงเกาะสำหรับปะการังตัวอ่อนแล้ว ทางโครงการยังได้ทดลองเพื่อพัฒนาวิธีการฟื้นฟูปะการังโดยวิธีการต่างๆ เช่น การย้ายปลูกปะการังชนิดต่างๆ รวมทั้งการศึกษาผลของการย้ายปะการังออกจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งพันธุ์ ซึ่งความรู้จากการศึกษาดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด และได้นำไปใช้พื้นฟูแนวปะการังในบางพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์ในพื้นที่ที่เหมาะสมมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวตามธรรมชาติของแนวปะการังในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะการย้ายปะการังเพราะมีอัตรารอดสูงและเห็นผลได้เร็ว ซึ่งต่างกับการสร้างแนวปะการังเทียมเพื่อให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะซึ่งกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลานานมาก

แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายปะการังนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ได้แก่ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปะการังและการก่อตัวของแนวปะการัง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูซึ่งค่อนข้างนาน รวมไปถึงความจำกัดของแรงงานและงบประมาณที่ใช้ ตลอดจนแหล่งพันธุ์ของปะการังที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟู ทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังยังทำได้ในบริเวณค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับพื้นที่แนวปะการังในธรรมชาติ

นางสาวนลินี ยังได้กล่าวต่อไปถึงการศึกษาการนำชิ้นส่วนปะการังที่มีขนาดเล็กมากๆ มาอนุบาลเพื่อลดการใช้ปะการังจากธรรมชาติ ว่า การศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูแนวปะการังของสถาบัน ยังคงดำเนินไปเป็นลำดับ และได้มีความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการฟื้นฟูปะการัง (Developing Ubiquitous Practices for Restoration of Indo-Pacific Reefs, REEFRES) ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 6 ประเทศ
 
ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิสราเอล อังกฤษ และอิตาลี โดยมีข้อกำหนดให้ประเทศในเอเชียจับคู่ดำเนินการศึกษาวิจัยกับประเทศในยุโรป สำหรับประเทศไทยนั้นสถาบันได้ศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิจัยจาก National Institute of Oceanography ประเทศอิสราเอล ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนการแลกเปลี่ยนความรู้และการทำงานวิจัยในโครงการดังกล่าวทำให้ความรู้ด้านการฟื้นฟูปะการังของไทยพัฒนาไปอย่างมาก
 
โดยขณะนี้ได้นำเอาแนวคิดจากการศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล ในการนำชิ้นส่วนของปะการังที่มีขนาดเล็กมากๆ มาอนุบาลในแปลงอนุบาลกลางน้ำในบริเวณที่เหมาะสมจนมีขนาดใหญ่พอที่จะเคลื่อนย้ายไปในบริเวณที่ต้องการฟื้นฟูแนวปะการัง ทำให้ไม่ต้องใช้ปะการังจากธรรมชาติจำนวนมากในการฟื้นฟูอีกต่อไป

ผลจากการศึกษาดังกล่าวได้นำไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่จริง โดยได้ดำเนินการจัดทำแปลงอนุบาลปะการังเพื่อเป็นแหล่งพันธุ์ที่นำไปใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ บริเวณหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่

ปะการังที่ใช้ในการย้ายปลูกปี52

ปะการังในแปลงอนุบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น