xs
xsm
sm
md
lg

ชาวภูเก็ตร่วมอนุรักษ์หญ้าทะเล-พะยูนปั้น Em Ball โยนใส่หญ้าทะเลคืนความสมบูรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตร่วมโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดโครงการ “อนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนในเขตอันดามัน” นำร่องร่วมปั้น EM Ball 10,000 ก้อน โยนบริเวณแนวหญ้าทะเล “อ่าวป่าคลอก” หวังคืนความสมบูรณ์ดึงพยูนกลับเข้ามาหากิน เผยพบร่องรอยพะยูนเริ่มกลับมาหากินแล้ว

นางสาวปารียา จุลพงษ์ ผู้ดูแลและรับผิดชอบโครงการ “อนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนในเขตอันดามัน” กล่าวว่า ขณะนี้ชาวจังหวัดภูเก็ตร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จัด โครงการ “อนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนในเขตอันดามัน” ขึ้น ซึ่งจากนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องหญ้าทะเลและพะยูน พบว่า มีการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับหญ้าทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่มีบทบาทและความสำคัญมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแนวปะการัง หรือป่าชายเลน เพียงแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาแหล่งนิเวศหญ้าทะเลยังไม่ได้รับสนใจ และมีการกล่าวถึงน้อยกว่าแหล่งนิเวศอื่นๆ อันเนื่องมาจากความไม่รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์และอาศัยของตัวอ่อนที่สำคัญหลายชนิด ทำให้เกิดปัญหาการทำลายแหล่งหญ้าทะเลมากมาย เช่น การถมทะเล การสร้างท่าเรือ มลภาวะทางน้ำ รวมไปถึงความเจริญเติบโตของแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งสิ้น

โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จึงได้วางแผนจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับโครงการนี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลแก่บุคคลากรภายในโรงพยาบาล, ชาวบ้านและเยาวชนในชุมชน, การสำรวจแหล่งหญ้าทะเลที่ยังเหลืออยู่ ตลอดจนการปลูกหญ้าทะเลในเขตทะเลอันดามันให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนในเขตอันดามัน ไม่เพียงทำให้ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ยังช่วยปลุกกระแสให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอันมีค่าอย่างยั่งยืนต่อไป

นางสาวปารียา กล่าวต่อไปว่า เพื่อช่วยกันคืนความสมบูรณ์ให้กับหญ้าทะเลและพะยูนในฝั่งทะเลอันดามัน ทางโครงการจึงได้เริมดำเนินการ โดยเลือกใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์มาสร้างความสมบูรณ์ให้กับหญ้าทะเล ซึ่ง พล.ท.ดร.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโครงการจึงได้จัดให้มีกิจกรรมร่วมปั้น EM Ball ขึ้นซึ่งเป็นส่วนผสมของ ดินละเอียด รำ มูลสัตว์ และน้ำEm หรือจุลินทรีย์ เพื่อนำไปโยนใส่บริเวณที่มีแนวหญ้าทะเลที่อ่าวป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่แรก เพื่อให้หญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าวกลับมาอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะได้ดึงดูดให้พะยูนกลับมาอาศัยในท้องทะเลของชาวภูเก็ตต่อไป

โครงการจัดให้มีการปั้น Em Ball ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00น. เพื่อให้ได้จำนวนEm Ball ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 10,000 ก้อน ภายในวันที่ 5 ธ.ค.2552 เพื่อนำไปโยนใส่บริเวณแนวหญ้าทะเลดังกล่าว

นางสาวปารียา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านบริเวณอ่าวป่าคลอกซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีแนวหญ้าทะเลสมบูรณ์และมีฝูงพะยูนเข้ามาหากินจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่าแนวหญ้าทะเลและพะยูน ที่เข้ามาเริ่มลดน้อยลงและล่าสุดชาวประมงที่ออกไปหาปลาบริเวณอ่าวป่าคลอก เริ่มพบร่องรอยการเข้ามาหากินของพะยูนในบริเวณดังกล่าวซึ่งชาวบ้านคาดว่ามีประมาณ 3 ตัว



กำลังโหลดความคิดเห็น