xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” ชี้ รัฐบาลตระบัตสัตย์บริหารประเทศเสียหาย-เห็นควรปฏิรูปการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – หาดใหญ่โพล เผย รัฐบาลตระบัตสัตย์ บริหารประเทศเสียหาย แทรกแซงกรรมการอิสระสอบสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ค้านแก้รัฐธรรมนุญ 291 เห็นควรปฏิรูปการเมืองใหม่

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับการเมืองใหม่กับการฝ่าวิกฤตการเมืองไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,203 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2551 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้

ผลการสำรวจ ประเด็นเหตุการณ์การเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.9 เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงไว้กับรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลมีแนวโน้มเข้ามาเพื่อแสวงผลประโยชน์ มากที่สุด (ร้อยละ 57.1) รองลงมา เป็นการบริหารประเทศทำให้เกิดความเสียหายในการสลายการชุมนุม และบริหารประเทศเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดเป็นร้อยละ 28.8 และ 14.1 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 14.1 ที่เห็นว่า รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ ให้เหตุผลว่า มีร้อยละของความคิดเห็นเท่ากัน คือเท่ากับ 45.7 คณะรัฐมนตรีมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน และรัฐบาลมีนโยบายประชานิยมซึ่งตรงกับความต้องการของประชาชน

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.8 เชื่อว่า จะมีการแทรกแซงคณะกรรมการอิสระที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อคลี่คลายเหตุการณ์สลายการชุมนุมจริง มีเพียงร้อยละ 19.6 ที่เห็นว่าจะไม่มีการแทรกแซงคณะกรรมการอิสระฯ และมีร้อยละ 10.6 ที่ไม่แสดงความคิดเห็น

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารประเทศภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.9 เห็นว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยประชาชนให้เหตุผลว่า เป็นนอมินีและมีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด (ร้อยละ 56.6)

รองลงมา มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และคาดว่าจะเป็นผู้สั่งฆ่าประชาชน คิดเป็นร้อยละ 52.5 และ 32.3 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 12.1 ที่เห็นว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประชาชนร้อยละ 45.1 ให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรีมีคุณสมบัติทั้งการศึกษาและประสบการทำงานดี มากที่สุด รองลงมา เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 38.9 และ 23.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 32.2 เชื่อว่า หลังคณะกรรมการอิสระสรุปเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของตำรวจ จะเกิดการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ มากที่สุด รองลงมา นายกรัฐมนตรีจะลาออก พรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลยังคงบริหารประเทศประเทศเหมือนเดิม คิดเป็นร้อยละ 18.9 18.3 และ 17.0 ตามลำดับ

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงหลังศาลพิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 เห็นว่า จะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น และร้อยละ 25.4 เชื่อว่า จะนำไปสู่เหตุความรุนแรงในบ้านเมืองได้ มีเพียงร้อยละ 14.6 ไม่แสดงความคิดเห็น

ส่วนประเด็นการปฏิรูปการเมือง/แก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้การเมืองใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.9 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ร้อยละ 24.4 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และมีเพียงร้อยละ 10.7 ไม่แสดงความคิดเห็น

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.4 เห็นควรให้มีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง โดยประชาชนให้เหตุผลว่า นักการเมืองไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญ มากที่สุด (ร้อยละ 55.0) รองลงมา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง และต้องการเห็นประชาชนมีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในระบอบประชาธิปไตย คิดเป็นร้อยละ 19.6 และ 14.7 ตามลำดับ และมีเพียงร้อยละ 30.6 ไม่ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลเพราะว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 58.2) รองลงมา เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ดีอยู่แล้ว และปัจจุบันการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 23.8 และ 18.0 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประชาชนยังเสนอประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติ ส.ส.เพื่อให้ได้ ส.ส.ที่มีความรู้และคุณธรรม มากที่สุด (ร้อยละ 33.4) รองลงมา เป็นการเลือกรูปแบบการเลือกและสรรหา ส.ส.ใหม่ กำหนดมาตรการป้องกันนักธุรกิจใช้รูปแบบการเลือกตั้งเข้ามาหวังประโยชน์จากการเมือง การเปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถมาเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี การเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น มีระบบการลงโทษอย่างหนักกับ ส.ส.ที่มีการซื้อเสียง และมีการลงโทษประชาชนที่มีผลประโยชน์จากผู้สมัคร ส.ส. และนักการเมืองอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 32.7, 31.3, 29.7, 29.5, 29.1 และ 29.1 ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.6 ที่เห็นว่า หากมีการปฏิรูปการเมืองใหม่ยังคงมีการคอร์รัปชั่นเหมือนเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีเพียงร้อยละ 28.9 ที่เห็นว่าสามารถลดปัญหาการคอร์รัปชันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น