xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายแต่ไม่แก้คน : วิญญาณเก่าในร่างใหม่

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้เป็นที่รู้และยอมรับในหมู่คนที่สนใจการเมืองว่า การเมืองในระบบเก่าที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 นั้น ยังย่ำอยู่กับที่ไม่เจริญเดินตามกาลเวลาที่ผ่านไป จึงมีสภาพไม่แตกต่างไปจากเฒ่าทารก คือมากด้วยจำนวนแห่งการเกิด แต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะรับใช้ปวงชนตามหลักการ และเจตนารมณ์ของผู้คิดค้น และนำระบบนี้มาใช้เท่าที่ควรจะเป็น ดุจดังที่เป็นอยู่ในประเทศอันเป็นต้นตอหรือที่มาของการปกครองในระบอบนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในแง่ของความเหมือน และความต่างดังต่อไปนี้

1. ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย องค์ประกอบหลักประการแรกที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย ก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บท จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดกติกา การได้มาซึ่งผู้แทนปวงชน และมีเนื้อหาเปิดกว้างให้ปวงชนมีสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งในแง่คัดค้านและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยผ่านทางการเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่แทนในสภาฯ และในขณะเดียวกัน สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนนอกสภาฯ ได้อย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมาย

2. ในการร่างกฎหมายลูกอันเกี่ยวกับการเมือง เช่น กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.และ ส.ว.จะต้องกำหนดรูปแบบให้โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ทั้งจากนักการเมืองด้วยกัน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปราศจากการเข้าไปแทรกแซง และครอบงำของกลุ่มทุนทางการเมือง ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่อย่างดาษดื่นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการคัดสรรคนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันจะเอื้อประโยชน์ในลักษณะให้คุณให้โทษได้

3. ในด้านบุคลากรทางการเมือง อันได้แก่ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องอยู่ภายใต้การคัดเลือกเข้ามาโดยผ่านกระบวนการสรรหาของพรรคการเมืองแต่ละพรรคอย่างรอบคอบและรัดกุม ทั้งพรรคจะต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ ของบุคลากรที่พรรคเลือกเข้ามาเป็นเบื้องต้นในทันทีที่พบว่าบุคลากรของพรรคกระทำผิดด้วยการลงโทษกันเองภายในพรรค เช่น การให้ออกจากตำแหน่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศโดยรวม และให้ความร่วมมือกับองค์กรอิสระ เช่น กกต. และ ป.ป.ช.เพื่อให้มีการสอบสวน และลงโทษตามกระบวนการของกฎหมายในขั้นต่อไป

แต่เท่าที่เป็นอยู่และเป็นมาแล้ว พรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อให้คนใดคนหนึ่งอันเป็นนายทุนทางการเมืองได้อำนาจทางการเมือง ไม่เคยปรากฏว่าดำเนินการในทำนองนี้

ตรงกันข้าม นอกจากไม่มีการลงโทษคนกระทำผิดด้วยกฎของพรรค แล้วยังช่วยกันแทรกแซง หรืออย่างไม่ทำอะไรให้ก็ช่วยปกปิดความผิด หรือในบางพรรคได้ออกรับหน้าแทนคนผิดด้วยซ้ำ จึงยากที่จะทำให้พรรคการเมืองปลอดจากนักการเมืองด้อยคุณภาพและคุณธรรม ตรงกันข้ามการที่พรรคการเมืองมีพฤติกรรมองค์กรในลักษณะนี้เท่ากับช่วยให้นักการเมืองเลวขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นในทุกพรรค และถ้ามีมากถึงขั้นควบคุมให้อยู่รวมกันไม่ได้ก็จะมีการแยกพรรค หรือไม่แยกก็แยกพวกอยู่พรรคเดียวกันดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในพรรคพลังประชาชนในขณะนี้

4. ในด้านประชาชนคนมีสิทธิเลือกตั้ง แทนที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ลงสมัครในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานและความดีหรือมีคุณธรรมและจริยธรรม ก่อนจะเลือกหรือไม่เลือกใคร กลับใช้เพียงความใกล้ชิดสนิทสนม และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ตนเองและครอบครัว หรือคนใกล้ตัว รวมไปถึงการเสนอประโยชน์ให้เพื่อแลกกับการเลือกไม่เลือกใคร เป็นการส่งเสริมให้นักการเมืองประเภทซื้อสิทธิได้รับเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกัน เป็นการปิดโอกาสคนดีมีคุณธรรมแต่ปฏิเสธที่จะลงทุนซื้อเสียงหรือไม่ยอมทำตัวเป็นคนรับใช้เพื่อแลกกับคะแนนเสียงไม่ให้มีตำแหน่งใดๆ ในทางการเมือง

ด้วยปัจจัย 4 ประการที่ว่านี้ ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่โตและเบ่งบานเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่กาลเวลาได้ผ่านมาถึง 75 ปีแล้วก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม จากความล้มเหลวและความเลวร้ายของระบบการเมือง และนักการเมืองในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนจากการที่มีคนจากทุกภาคส่วนของสังคมได้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น และมากขึ้น เพื่อเรียกร้องและกดดันให้นักการเมืองประเภทด้อยคุณภาพ ขาดจริยธรรมพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายบริหาร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พ้นไปจากการเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และพร้อมกันนี้ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเสียใหม่

จากปรากฏการณ์ทางการเมืองอันเป็นผลมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่ราชดำเนินและที่ทำเนียบฯ 100 กว่าวัน ดูเหมือนว่าการเรียกหาการเมืองใหม่ดังเพิ่มขึ้นทุกที และดูเหมือนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะนิ่งดูดายไม่ออกมาขานรับไม่ได้อีกแล้ว และนี่เองคือจุดที่เกิดกระแสจะมีการตั้ง ส.ส.ร. 3 ขึ้นมาทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการแก้ไขใหม่เป็นบางมาตราหรือหลายมาตรายังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ที่แน่นอนประการหนึ่งก็คือว่าจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มีการเมืองใหม่แทนระบบการเมืองเก่าที่ล้าหลัง และหมดยุคไปแล้วตามกฎที่ว่า สิ่งที่ผู้คนในสังคมต้องการจะเกิดขึ้นและเติบโตตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่สังคมไม่ต้องการจะไม่เกิดขึ้น และถึงแม้จะเกิดขึ้นแล้วตามความต้องการของคนรุ่นก่อน แต่ครั้นมาถึงยุคที่คนไม่ต้องการก็จะลดลงและหมดไปในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยของไทยวันนี้กำลังจะเริ่มมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง โดยการตั้ง ส.ส.ร. 3 ขึ้นมาทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเชื่อว่าในครั้งนี้ก็ไม่ต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมา คือ ทำได้แค่เขียนกฎหมายใหม่ แต่บุคลากรทางการเมืองยังมีพฤติกรรมแบบเก่า จึงไม่ต่างไปจากวิญญาณดวงเก่าในร่างใหม่นั่นเอง คือทุกอย่างเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น