xs
xsm
sm
md
lg

“ตูมตาม” ร่วมทีม ปชป.ลงพื้นที่สางปัญหายางราคาวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - วิทยา แก้วภราดัย นำทีม ส.ส.ปชป.พร้อมด้วย “อาคม เอ่งฉ้วน” อดีต รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่สางปัญหายางราคาวูบ เมินน้ำยารัฐ-ผู้ส่งออก เร่งฉวยโอกาสกว้านซื้อเก็งกำไร งัด 6 มาตรการเตรียมจี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์สางปัญหากู้ราคา

วันนี้ (20 ต.ค.) ที่สำนักงานสำนักตลาดกลางยางพารา นครศรีธรรมราช ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.จากนครศรีธรรมราช นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ตรัง และ สงขลา รวมเกือบ 20 คน ได้ติดตามดูงานการประมูลยางพาราในตลาดและเข้าพบกับ นายสุวิทย์ รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดยางนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามสถานการณ์ราคายางที่ลงลงอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปในวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

นายสุวิทย์ รัตนพงศ์ ผอ.สำนักงานตลาดกลางยางพารา นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากปัญหาของราคายางที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ปัญหาหลักสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ ข้อเท็จจริงยางที่ผลิตได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ผลกระทบจึงเกิดขึ้นโดยรวมต่อราคายางในปัจจุบัน ซึ่งราคายางพาราในส่วนนี้ได้สะท้อนออกมาว่าราคาจริงที่ส่งผลให้ราคายางตกลงมาอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นราคายางที่ผันผวนอยู่ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเล่นราคายางในตลาดของนักเก็งกำไร และจากการประมูลราคายางที่เข้าสู่ตลาดในช่วงเช้าของวันนี้ปรากฏว่าราคาที่มีการเปิดประมูลนั้นอยู่ที่ 53.81 บาท จากปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดในช่วงเช้า 2.4 หมื่น กก.

ซึ่งขณะนี้ราคายางถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกหรือผู้ประมูลซื้อที่จะซื้อเก็บเพื่อเก็งกำไร โดยสังเกตได้จากการบริษัทต่างๆ ที่เข้าประมูลซื้อมากกว่าปกติในช่วงราคายางกิโลละกว่า 90 บาท ขณะเดียวกัน การส่งออกยางไปยังประเทศจีนนั้น ได้มีการเร่งเจรจา เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใน กก.ละกว่า 90 บาท เช่นกัน จนถึงวันนี้ยางราคาตกลงจึงต้องมีการเจรจากันยกใหญ่ เนื่องจากจีนมีการชะลอการจ่ายเงินหรือยื้อเวลาการจ่ายเงินออกไปเก็บราคายางที่ผันผวนในปัจจุบัน

นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งทำหลายอย่างในมาตรการพยุงราคายาง เนื่องจากยางในประเทศไทยส่งออกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และตลาดในอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ยุโรป มีปัญหา ไม่ใช่ยางราคาต่ำแล้วไปโทษตลาดโลกอย่างเดียวไม่ได้ รัฐบาลต้องรู้ทันสถานการณ์ และหามาตรการเกษตรกรปลุกยางพารากว่า 10 ล้านครัวเรือนให้ได้ อย่าพูดเรื่องยางแล้วบอกว่าเป็นการเมืองมันไม่ใช่ นักการเมืองบางคนหลับหูหลับตาพูดบอกว่ายางตก เพราะพันธมิตรฯมันไม่ใช่ ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจไปแล้วในแต่ละภาคของประเทศปลูกทั้งนั้นอย่าเอาการเมืองมาพูดไม่ถูกต้อง

ข้อถามรัฐบาลพยายามที่จะประกันราคาข้าว, ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ในขณะที่ยางพาราไม่ได้รับการสนใจ นายอาคม เอ่งฉ้วน กล่าวต่อว่า พืชอื่นๆ มีปริมาณไม่มากใช้เงิน 200-300 ล้าน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แต่ยางรัฐบาลคิดหนัก ข้าวเองยังมีอยู่อีก 8 ล้านตันที่จะต้องจำนำใช้เงินราว 1 แสนล้าน ธกส. บอกว่ามีแค่ราว 5 หมื่นล้าน ชาวนายังไม่รู้ว่าจะได้ตามราคาหรือไม่คือตันละ 1.2 หมื่นบาท

“เรื่องยางรัฐบาลมีความรู้สึกช้ามากเคยแต่คิดว่ายาง กก.ละ 100 บาท พอยางลงมาเช่นนี้คิดไม่ทันคิดไม่เป็น และการตั้งงบถึง 1 แสนล้านต่อสินค้าเกษตร คือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ประชาธิปัตย์จะเข้าไปตรวจสอบ ทางคณะกรรมการนโยบายข้าว ผ่านทั้งกรรมาธิการและคณะทำงานของพรรค ส่วนเรื่องยางนั้นเกษตรกรหวั่นว่ารัฐไม่มาช่วยแล้วยางจะลดลงต่ำไปกว่านี้ มาวันนี้การแก้ปัญหาต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพไม่อยากเสนอกับกระทรวงพาณิชย์ แต่จะเสนอผ่านปลัดกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมการค้าภายใน แทน” นายอาคม กล่าว

ภายหลัง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ในภาคใต้ พร้อมด้วยผู้บริหารตลาดกลางพาราและผู้ส่งออกยางพาราได้ประชุมหารือเพื่อหามาตรการในการนำเสนอ เพื่อการแก้ไขปัญหา นายอาคม เอ่งฉ้วน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการตกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงถึง 6 มาตรการที่ได้กำหนดเพื่อนำเสนอในการแก้ไขปัญหาว่า ในฐานะ ส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดได้มีความเห็นตรงกันว่า มาตรการที่เป็นข้อสรุปนั้นจะนำเสนอต่อฝ่ายราชการในกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะปลัดกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นข้าราชการที่ต้องทำงานไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไป ซึ่งข้อเสนอ 6 ข้อนั้น ประกอบด้วย

1.ทิศทางของราคายางที่ผันผวนไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว ต้องรักษาเสถียรภาพให้อยู่ในระดับนี้ 2.เนื่องด้วยพืชชนิดอื่นมีราคาต้นทุน ดังนั้นยางพาราต้องมีราคาต้นทุนที่ชัดเจนเช่นกันจะต้องเร่งวิจัยถึงต้นทุนที่ชัดเจน3.เสนอปลัดกระทรวงให้หามาตรการในการรองรับหากยางพาราราคาตกต่ำ

4.เสนอบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตามแนวทางของ นายชวน หลีกภัย ที่ได้เคยทำไว้ คือ การระดมทุนจากทั้ง 3 ประเทศ เพื่อตั้งเป็นกองทุนในการซื้อยางพาราเก็บสต๊อกยางในประเทศ เมื่อยางราคาชะลอตัวตกต่ำ กองทุนนี้จะทำให้ยางมีราคาที่มีเสถียรภาพ ส่งสัญญาณโดยการซื้อเก็บสต๊อกโดยรัฐบาลเก็บเองเนื่องจากยางพาราสามารถเก็บได้ถึง 3 ปีโดยไม่เสียหาย

5.บริษัทร่วมทุนของทั้ง 3 ประเทศ ต้องเร่งในการกำหนดราคายางพาราขั้นต่ำซึ่งเวลานี้เห็นว่าควรจะอยู่ที่ 55 บาททั้ง 3 ประเทศ และ 6.รัฐบาลต้องเร่งในการจัดหาปุ๋ยราคาถูก เป็นรัฐบาลต้องมีวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

นายอาคม กล่าวต่อว่า มีการทำนายจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่อื่นๆว่าราคายางจำต่ำกว่า กก.ละ40 บาทส่งสัญญาณออกมาเรื่อยๆ ซึ่งไม่ควรที่จะออกมาระบุเช่นนี้เพราะตลาดยางเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น ควรสร้างความมั่นใจ และเชื่อว่า ราคายางจะไม่ต่ำกว่านี้อีกแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น