ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย จัดสัมมนา “สิทธิของประชาชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องสิทธิของประชาชน ในวาระครบรอบ 60 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (22 ก.ย.) เวลา 08.30 น.ที่โรงแรม เจ.บี หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดสัมมนา “สิทธิของประชาชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยมี นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ กวี-โยป ซน ผู้ประสานงานแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาหลากหลายองค์กร อาทิ ข้าราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, องค์กรอิสระ, นักวิชาการ, ผู้แทนสถาบันการศึกษา, สื่อ, องค์กรภาคประชาสังคม, ภาคเอกชน, สหภาพแรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องหลักดังนี้ คือ การปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, สถานการณ์ปัจจุบันและข้อท้าทาย
ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือเรื่องสิทธิที่ไม่ห่างไกลจากตัวเราเอง เป็นสิทธิ์ของคนทุกชนชั้น ทั้งในระดับชุมชน สังคม และระดับโลก สิทธิมนุษยชนมีการดำรงชีวิตและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของมนุษย์ตามบริบทและโครงสร้างทางสังคม ซึ่งชีวิตกับอำนาจเป็นองค์ประกอบของเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและทรัพย์สินเอกชน-บริบทเสรีนิยม, สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม-บริบทสังคมนิยม และสิทธิชุมชน-บริบทของประเทศกำลังพัฒนา
“ในวาระครบรอบ 60 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านระบบอำนาจ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทางด้านการลงทุนไปยังทรัพยากร การแสดงออก ประสบการณ์ของนักคิดเป็นจุดสะท้อนเริ่มต้นของตัวปฏิญญาสากล ผมมีประสบการณ์มา 6-7 ปี เห็นการพัฒนาการโดยยึดหลักปัจเจกของสังคมที่เกิดขึ้นจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งด้านบริบทของสังคมคนใต้ที่มีความหลากหลาย มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเสมอ และยังเปลี่ยนแปลงไปในระดับสากลที่มีความหลากหลายในรอบ 60 ปี” ศ.เสน่ห์ กล่าวต่อและว่า ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดทำหนังสือคำแปลอย่างไม่เป็นทางการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนคนไทยได้ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้ง และมีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป ซึ่งมีทั้งหมด 30 ข้อ
ด้าน ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการสร้างพลังในชุมชนในด้านสิทธิพื้นฐานทั่วไปของชุมชน ทั้งด้านกฎหมายเฉพาะภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่ กรณีพิเศษสถานการณ์ฉุกเฉินของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานีได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจับกุมโจรผู้ร้ายของทหาร ในการจับกุมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้นได้มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้ศาลเยาวชน
“ทางด้านความรุนแรงในครอบครัวและสตรีนั้นได้มี พ.ร.บ.ใหม่ ซึ่งทำให้หลักการดีขึ้นกว่าเก่า ซึ่งอยู่ในสิทธิ 30 ข้อในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันนี้กลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆได้รับสิทธิกันมากขึ้น อาทิ สื่อมวลชนที่มีสิทธิ์และเสรีภาพมากขึ้นในการนำเสนอข่าว, คนพิการที่ได้รับโอกาสทางสังคมมากขึ้น, ชนเผ่าต่างๆ เช่นเผ่าซาไก, เด็กและสตรี” ศ.วิทิต กล่าว