xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอหนุนอุตฯซอฟต์แวร์-ท่องเที่ยวภูเก็ต ซิป้าทาบ “ไมโครซอฟท์-ไอบีเอ็ม” ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -บีโอไอหนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ท่องเที่ยวและบริการในภูเก็ต เผยครึ่งปีแรกต่างชาติขอบีโอไอลงทุนโรงแรมที่ภูเก็ต 4 ราย มูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท คาดสิ้นปีทะลุ 10 โครงการ กว่า 16,000 ล้านบาท ขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์จ่อคิวเข้ามาลงทุนที่ภูเก็ต 4-5 รายเร็วๆ นี้ หลังรัฐบาลส่งสัญญาณพร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

นางวนิดา ใหม่กิจเหมา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 เปิดเผยว่า ภายหลังจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การขอส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว” ที่โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ตว่า จากการที่จังหวัดภูเก็ตได้มีหนังสือ ถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ให้จัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเห็นว่าภูเก็ตเป็นศูนย์กลางกลุ่มจังหวัดอันดามัน มีการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 6 ล้านคน ในปี 2550

ขณะที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) มีนโยบายผลักดันโครงการ Phuket ICT R&D Innovation Paradise ดึงดูดบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกมาลงทุน เป้าหมายสร้างรายได้ 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2554 นอกจากนี้ นักลงทุนรายใหญ่ส่วนมากแฝงมากับการท่องเที่ยว

ในเรื่องดังกล่าวทางศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนที่ 6 ได้เคยเสนอขอให้จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่ของ สกท.มาทำงานที่ภูเก็ตเป็นครั้งคราวและจากการหารือกับซิป้า สาขาภูเก็ต ได้เสนอว่าในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีผู้ประกอบการสนใจขอรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่จำนวนมาก ประกอบกับกิจการด้านซอฟต์แวร์ทุกขนาด ได้ลดเวลาการอนุมัติโครงการเหลือ 15 วัน

ดังนั้น เพื่อสนองตอบความต้องการของภูเก็ต และเพื่อประชาสัมพันธ์ จูงใจให้เกิดการลงทุน ใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนที่ 6 จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การขอส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว”เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่จะได้รับทราบวิธีปฏิบัติ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ รวมถึงการกรอกแบบฟอร์มขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเพื่อช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถยื่นขอรับการส่งเสริม ตลอดจนเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุน

นางวนิดา เผยอีกว่า การลงทุนภาคใต้ตอนบนช่วงมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2551 โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 22 โครงการ และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 จำนวนโครงการลดลงร้อยละ 35.29 เงินลงทุนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 8.23 การจ้างงานคนไทยลดลงร้อยละ 55.58 และแนวโน้มการลงทุนในภาคใต้ตอนบนช่วงปลายปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และไม่ต่ำกว่าปี 2550 และคาดว่าช่วงกลางปีเป็นต้นไป การลงทุนในภาคใต้ตอนบนจะเริ่มคึกคัก ซึ่งเป็นผลบวกมาจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการลงทุนไทย และยังมีแผนกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

ในเบื้องต้นจากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ กลุ่มแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน ปิโตรเคมีและพลังงาน คาดว่าจังหวัดที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ตและกระบี่ ในประเภทแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน รองลงมาได้แก่ การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ บีโอไอได้กำหนดมาตรการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรังและระนอง เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ ในแถบนี้ โดยคาดว่าการลงทุนภาคใต้ตอนบนในปี 2551 จะมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติไม่ต่ำกว่า 58 โครงการ เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคใต้ตอนบนยังคงมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญด้านต่างๆ เช่น นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และเงินบาทแข็งค่า ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในภาคใต้ตอนบน

ส่วนการลงทุนในจังหวัดภูเก็ต นางวนิดา กล่าวว่า ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายนของปีนี้ บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริม 4 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 4,838 ล้านบาท และคาดว่าตลอดทั้งปี 2551 การอนุมัติไม่น่าจะต่ำกว่า 10 โครงการ เงินลงทุน 16,638 ล้านบาท โดยการลงทุนที่ภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านโรงแรม รีสอร์ต จากชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น และแต่ละโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การลงทุนมีเพียง 1% เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ ส่วนมากการลงทุนจะกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะมีตลาดรองรับ และยังเป็นรายเล็กๆ และเป็นรายเล็กๆ ในนามบุคคล ยังไม่เข้าข่ายขอส่งเสริมการลงทุน โดยกำหนดเงินลงทุน 1 ล้านบาทซึ่งไม่มาก

ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ 4-5 รายเตรียมเข้าภูเก็ต

ด้าน ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต คณะกรรมการซิป้าสาขาภูเก็ต กล่าวถึงความพร้อมของภูเก็ตในการกระตุ้นนักลงทุน ว่า รัฐบาลได้มีการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นไอซีทีอินโนเวชัน พาราไดส์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักลงทุน ในเบื้องต้นได้มีการลงนามความร่วมมือกับ กสท และทีโอที ในการดำเนินการให้มีไฟเบอร์ออปติกทั่วทั้งเกาะภูเก็ตไปยังบ้านทุกหลัง การมีไว-ไฟที่หาดป่าตองฟรีนำร่อง หากประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปยังหาดอื่นๆอีก

ในขณะที่ กสท และทีโอที เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซิป้าได้เข้าไปพุดคุยกับนักลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะมีข่าวดี ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ๆ 4-5 ราย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนที่ภูเก็ต โดยใช้ภูเก็ตเป็นศูนย์ R&D หรือการศึกษาวิจัย รองรับพื้นที่ในภูมิภาคเอเชีย

การเข้ามาลงทุนของกลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้จะเกิดประโยชน์กับภูเก็ตมาก โดยภูเก็ตและอันดามันใช้ความสวยงามของธรรมชาติ ความน่าอยู่ เป็นตัวดึงบริษัทรายใหญ่เข้ามาลงทุน ซึ่งกลุ่มบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้เป็นคนที่มีคุณภาพสูง ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แต่ที่เห็นชัด คือ เป็นการเปิดประตูให้แก่ผู้ประกอบการคนไทย ได้มีโอกาสทำธุรกิจกับคนเหล่านี้ซึ่งหาได้ยากมาก ไม่เฉพาะอันดามันเท่านั้น แต่เป็นประตูให้ทั้งประเทศเข้ามาต่อเนื่อง เช่น ส่งงานต่อไปยังขอนแก่น เชียงใหม่ สมุย เป็นต้น

บีโอไอเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์อุตฯท่องเที่ยว

ขณะที่ นางจินจณา โอสถธนากร สำนักบริหารการลงทุน 4 กล่าวว่า เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการสอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนรายใหม่ บีโอไอจะแก้ไข ปรับปรุง และเพิ่มสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการใหม่ในทุกประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่จอดเรือท่องเที่ยว เดินเรือท่องเที่ยวหรือให้เช่าเรือท่องเที่ยว สวนสนุก ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อุทยานสัตว์น้ำ สวนสัตว์เปิด โรงแรม กระเช้าไฟฟ้า สนามแข่งขันยานยนต์ บ้านพักและศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุ และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะในกิจกรรมบางประเภทไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ สวนสนุก สนามแข่งขันยานยนต์ ตั้งแต่ที่เปิดให้การส่งเสริมการลงทุน ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเลย ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดสูงเกินไป จนเอกชนไม่สามารถที่จะขอส่งเสริมการลงทุนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น