ซิป้าฟุ้งตั้งเป้าดันยอดส่งออกซอฟต์แวร์ในต่างประเทศปีหน้าโต 20% จากปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเพียง 8 พันล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ตั้งผู้แทนการค้าในต่างประเทศ ระบุที่ผ่านมาไทยมีผู้ประกอบการ 1,200 -1,500 ราย แต่อยู่ในสภาวะขาดเงินทุนจำเป็นต้องพึ่งนโยบายเชิงรุกสร้างพันธมิตรต่างประเทศ
นางสาวนิรชราภา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการการตลาดต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยว่า ใน ปี 2552 ซิป้ามีเป้าหมายขยายขนาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเพิ่มขึ้น 20% ในตลาดต่างประเทศ จากเดิมที่ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกซอฟต์แวร์ไทยประมาณ 8 พันล้านบาทโดยกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดจะมีการตั้งผู้แทนทางการค้าที่ต่างประเทศ และแลกเปลี่ยนคณะทำงานระหว่างภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ
ปัจจุบันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในไทย 1,200 -1,500 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ขาดเงินทุน การที่ซิป้าได้เน้นนโยบายเชิงรุกเน้นสร้างพันธมิตรต่างประเทศอย่าง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่าจากวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ก็จะยิ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ต่างประเทศ หันมาจ้างแรงงานซอฟต์แวร์ในเอเชียมากขึ้น ล่าสุดอินเดียให้ความสนใจร่วมลงทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท จ้างผู้ประกอบการแอนิเมชัน และเกมไทย
อย่างไรก็ดี ปีนี้ซิป้าใช้งบประมาณเพื่อพบปะลูกค้าจำนวน 16,890,000 บาท โดยมีมูลค่าหลังการตกลงซื้อขายกว่า 2 พันล้านบาทและมีบริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจจำนวน 223 บริษัท จาก 22 กิจกรรม
นายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในปี 2552 สำหรับตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศ จะเน้นการสนับสนุนให้หน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆหันมาใช้ซอฟต์แวร์ภายในประเทศ รวมถึงการใช้สถานที่ของซิป้าเมื่อย้ายไปศูนย์ราชการ ที่ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อสร้างโชว์รูมแสดงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของไทยให้คู่ค้าได้รับทราบข้อมูล
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยควรเน้นผลิตซอฟต์แวร์ด้านการให้บริการมากกว่า เช่นแอปพลิเคชันสำหรับโรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยถนัดอยู่แล้วและมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20 % ต่อปี อย่างไรก็ดี ปี 2552 ซิป้าได้รับงบประมาณในวงเงิน 380 ล้านบาท โดยได้จัดกลุ่มงบประมาณให้เหลือเพียง 10 โครงการ ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในวงเงิน 27.37 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการลงทุนและร่วมทุนกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ 38.68 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการใช้และพัฒนาโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ 28.55 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีที สำหรับวิสาหกิจ 22.55 ล้านบาท
โครงการจัดทำระบบบริการซอฟต์แวร์และข้อมูลอุตสาหกรรมกลางแห่งชาติ 28.8 ล้านบาท โครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ 36.57 ล้านบาทโครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ 62.84 ล้านบาท ศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอซีทีระดับโลก 27.09 ล้านบาท ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์แห่งชาติ 35 ล้านบาท และศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 18.09 ล้านบาท
Company Related Links :
SIPA