ซิป้าเปิดยุทธศาสตร์เชิงรุกบุกตลาดต่างแดน จูงมือผู้ประกอบการดิจิตอลคอนเทนต์ไทยพบผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อหาพันธมิตรร่วมทำโค-โปรดักชัน ก้าวสู่การเจาะตลาดโลก ลั่นปีงบประมาณ 52 ต้องสร้างมูลค่าธุรกิจซอฟต์แวร์ทั้งในและนอกประเทศได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท
ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวในโอกาสที่พาผู้ประกอบการดิจิตอล คอนเทนต์ไทยพบปะแลกเปลี่ยน และเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นว่า ซิป้าได้พาผู้ประกอบการไทยไปพบปะกับผู้ประกอบการหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น ซึ่งการเข้าไปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศ
ในมุมมองหรือวิธีคิดของผอ.ซิป้าคือ การเป็นพันธมิตรกับบริษัทข้ามชาติเพื่อเจาะตลาดโลก เช่น เกาหลีเก่งเรื่องเกมออนไลน์ หรืออย่างญี่ปุ่นเก่งเรื่องบล็อกต่างๆ เรื่องฟิล์ม ก็ต้องให้ผู้ประกอบการของประเทศเหล่านี้ทำตลาด ส่วนผู้ประกอบการไทยก็ทำโปรดักชัน หรือเป็นลักษณะของโค-โปรดักชัน
“ให้พันธมิตรเราทำตลาด เขารวยเราก็รวย เราต้องค้นหาให้เจอว่าเราเก่งอะไร เราต้องวางตัวเป็นฐานผลิต ทำให้เก่งและใหญ่ที่สุดในโลก พอพูดถึงการผลิตให้ผู้ประกอบการประเทศต่างๆ คิดถึงไทย”
ที่ซิป้าเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศ เพราะปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์เพียง 3 พันล้านบาท ขณะที่เวียดนามที่เพิ่งเริ่มทำ ส่งออกถึง 8 พันล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีตไทยพึ่งพาเฉพาะตลาดในประเทศ การเติบโตของอุตสาหกรรมก็เป็นไปตามปกติ พอมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็สะดุด ดังนั้น ซิป้าจึงมองไปที่ตลาดโลก โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ปาร์ก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น มีพันธมิตรข้ามชาติมากขึ้น
ดร.รุ่งเรืองกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ซิป้าวางไว้ในการรุกเข้าไปในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน เช่น ลาวอาจเป็นเรื่องของบุคลากรโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หรือจะเป็นอี-กัฟเวิร์นเมนต์ คือเป็นลักษณะของที่ปรึกษา ไม่ใช่เรื่องของแอนิเมชัน อย่างสิงคโปร์ เรื่องการทำตลาดให้ผู้ประกอบการสิงคโปร์ทำ แต่ไทยทำโปรดักชัน และในอนาคตอันใกล้ทางซิป้าจะมีการส่งคนไปประจำในลักษณะอินเตอร์เนชันแนล เอนเตอร์ไพรส์ หรือไออี อย่างเกาหลีเก่งเรื่องเกมออนไลน์ ไทยก็เอาเรื่องอี-เลิร์นนิ่งเข้าไป ส่วนกรณีของญี่ปุ่น เรื่องดิจิตอลคอนเทนต์มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ก็เป็นการหาพันธมิตร เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทำเอาต์ซอร์ส เป็นต้น
“บทบาทภาครัฐคือทำให้ผู้ประกอบการเอกชนรู้จักกัน คือทำในเชิงรุก เพื่อให้มีการเจรจาธุรกิจ หรือทำบิซิเนสแมชชิ่งกัน”
ผอ.ซิป้าย้ำว่า กรณีของญี่ปุ่นเป็นการเปิดมิติระดับอินเตอร์ ซึ่งเป็นการเปิดกว้าง และต่อไปจะมีบุคลากรมาอยู่ประจำญี่ปุ่น เพราะมีความแข็งแกร่งในเรื่องดิจิตอลคอนเทนต์อยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการไทยจุดอ่อนคือไม่เป็นอินเตอร์ ต่อไปไทยจะต้องพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ หรือโปรเฟสชันนัล โดยซิป้าหรือหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวกลางประสานให้ผู้ประกอบการได้มีการเจรจาทางธุรกิจกัน
“ซิป้าต้องสเต็ปเอาต์ อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ เพราะการทำระหว่างรัฐกับรัฐ หรือจีทูจีจะง่ายกว่าเอกชนทำ ต้องลงลึกในแต่ละสถานการณ์ จึงต้องลงลึกในเรื่องการตลาด”
การที่ซิป้านำผู้ประกอบการดิจิตอลคอนเทนต์ไทยเข้าไปในแต่ละประเทศ เป็นการศึกษาตลาดเบื้องต้นก่อนเพื่อให้ได้แนวทาง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถมีข้อตกลงหรือคอมมิตเมนต์กับประเทศต่างๆ ได้
สำหรับการรุกหนักในการหาพันธมิตรต่างประเทศ เนื่องจากซิป้าต้องการสร้างรายได้ให้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2552 ซิป้าได้ของบประมาณจากรัฐบาล 400 ล้านบาท เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในรูปแบบต่างๆ ในไทยให้โตขึ้น และตั้งเป้าไว้ว่าในปีงบประมาณ 2552 นี้ มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ทั้งในและต่างประเทศจะมีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
Company Related Links :
SIPA