ซิป้าร่วมกับเครือข่ายซอฟต์แวร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งโครงการไทยแลนด์ ไอที สองจุดศูนย์ ผลักแผนพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เพื่อสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตภายใน 2 ปี พร้อมดันแผน 7 ยุทธวิธีสร้างความสำเร็จ
ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที ได้รวมกลุ่มกันเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วยไอซีที โดยเป็นแผนระยะสั้นในช่วง 2 ปี นับตั้งแต่กลางปี 2551 ถึงกลางปี 2553 ผ่านแผนที่ชื่อว่า ไทยแลนด์ ไอที สองจุดศูนย์ (Thailand IT2.0) ซึ่งมี 7 ยุทธวิธีในการสร้างความสำเร็จและวัดผล
สำหรับยุทธวิธีแรกคือการเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยการให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันสร้างกองทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านไอที ให้การศึกษาด้านการพัฒนาทางธุรกิจยุคใหม่ด้วยไอทีแก่เอสเอ็มอี สร้างมาตรฐานสำหรับนักศึกษาที่จะมาเป็นแรงงานทางภาคไอทีให้มีคุณภาพระดับโลก และผลักดันให้ 50 มหาวิทยาลัยในประเทศก้าวสู่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เครือข่ายแบบใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพมากขึ้น ยุทธวิธีที่สองคือการพยายามผลักดันให้เกิดบริษัทธรรมาภิบาล โดยในขั้นต้นนั้นจะมุ่งเน้นให้บริษัทเป้าหมายหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการที่ประเทศไทยยังมียอดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจำนวนมากทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถขยายตัวตามที่ควรจะเป็น
ยุทธวิธีที่สามคือแผนการใช้ไอทีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจประเทศ โดยการเพิ่มความต้องการใช้ไอทีในทุกภาคเศรษฐกิจ และเน้นย้ำการใช้ไอทีในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศค่อนข้างสูง ยุทธวิธีที่สี่คือมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านเครือข่ายทุกช่องทาง เช่น ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญคือความพยายามที่จะผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในจำนวนที่มากขึ้น ยุทธวิธีที่ห้าคือแผนการจูงใจให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างการแข่งขันและการให้รางวัลในงานประกวดซอฟต์แวร์และสร้างแรงจูงใจให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เร่งสร้างผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ยุทธวิธีที่หกคือการผลักดันให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการทางด้านภาษีเพื่อเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจซอฟต์แวร์ ที่สำคัญคือให้รัฐบาลอนุมัติให้บริษัทหรือนิติบุคคลที่ใช้จ่ายเงินในการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายภายในปีเดียวกัน และยุทธวิธีสุดท้ายคือการเร่งสร้างกิจกรรมทางการตลาดเพื่อสร้างความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ให้เกิดในประเทศให้มากขึ้น สร้างแอปพลิเคชันที่พร้อมใช้งานกับเครือข่ายใหม่ รองรับตลาดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่อื่นๆ พร้อมกับสร้างช่องทางการจำหน่ายเพื่อทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สามารถเจาะลึกลงสู่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าได้โดยตรง
สำหรับองค์กรที่เข้าร่วมในโครงการไทยแลนด์ ไอที สองจุดศูนย์ ในครั้งนี้ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (องค์การมหาชน), เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และสภาหอการค้าไทย
Company Relate Link :
SIPA