xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องลึกและเบื้องหลัง “ปาหี่!?” ดับไฟใต้ทาง “ทีวี 5”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานจาก…ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ฯ ประกาศยุติการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

พลันที่ภาพข่าวผลการเจรจาหยุดยิงระหว่าง “พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร” อดีต ผบ.ทบ.และอดีต รมว.กลาโหม ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กับ “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” ได้รับการออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อช่วงข่าวเที่ยงวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงคนไทยจะรับชมได้เท่านั้น แต่ยังมีการเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในพื้นที่ชายแดนใต้และใกล้เคียง แทนที่จะเป็นปรากฏการณ์ของความยินดีปรีดาของพี่น้องประชาชน เนื่องเพราะสถานการณ์ “ไฟใต้” ที่ยังความโหดร้ายและรุนแรงอันปรากฏต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะการโหมไฟใต้ให้ลุกโชนในยุคหลังที่เกิดจากความอหังการของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งฝันร้ายต่างๆ เหล่านี้น่าจะถึงกาลยุติลงได้อย่างสันติวิธี จากผลการเจริจาที่ปรากฏเป็นภาพและข่าวอย่างฮือฮาในหนนี้

ทว่า กลับกลายเป็นมีคำถามผุดขึ้นในจิตใจผู้คนมากมายเข้ามาแทนที่ พร้อมๆ กับความสงสัยว่าภาพและข่าวที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนในครั้งนี้นั้น...มีเป็นความจริงแค่ไหน?! หรือเป็นเรื่องโจ๊กไส่ไข่?! หรือเป็นเรื่องปาหี่ที่มีการหวังผลการเมืองของรัฐบาลชุดนี้?!

ทั้งนี้ เพราะที่ภาพและข่าวที่ปรากฏทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในครานี้ ขาดทั้งน้ำหนักในสถานการณ์ความเป็นจริง แถมเหตุและผลอันน่าเชื่อถือก็ค่อนข้างอ่อนด้อยในหลายประการ

คนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของ “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” แม้จะไม่บอกชื่อสกุล แต่ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของชายแดนใต้ใกล้ชิดจะทราบว่า เขาคือ “นายลุกมาน บินลีมา” ซึ่งเป็นสมาชิกพูโลเก่าที่ปักหลักอยู่ในสำนักงานของบขวนการพูโล ณ ประเทศเยอรมนี

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมานี้ “นายลุกมาน บินลีมา” ได้พยายามอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ชายแดนใต้ทุกกลุ่ม โดยเคลื่อนไหวผ่านเว็บไซต์พูโล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยมาโดยตลอด จนได้ฉายาจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการข่าวความมั่นคงว่า “นายหน้าค้าสงคราม”

ดังนั้น การที่มีการอุปโลกน์เอา “นายลุกมาน บินลีมา” มาเป็นตัวแทน “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” เพื่อประกาศให้แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “หยุดยิง” ซึ่งหมายถึงการยุติสงครามการก่อความไม่สงบ จึงขาดน้ำหนักแห่งความเชื่อถือและเชื่อมั่นลงไปไม่น้อย

และนอกจากไม่เชื่อมั่นหรือน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีความคลางแคลงใจต่อไปว่า การใช้โอกาสและจังหวะก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี “สมัคร 1” เกิดขึ้นช่วงหลังวันที่ 28 ก.ค.นี้ เป็นไปเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่?!

โดยเฉพาะในตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นั่งถ่างขาไปควบอยู่ในเวลานี้

โดยข้อเท็จจริงแล้ว การเจรจาระหว่างนายทหารที่ทำงานใต้ดิน กับตัวแทนของขบวนการพูโลเก่า รวมถึงขบวนการเบอร์ซาตู ที่มี “ดร.วัน กอเดร์” เป็นประธานกลุ่มนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา ยังเป็นนั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ โดยมีการเดินทางไปเจรจากันทั้งในประเทศซีเรีย สวีเดน เยอรมนี และอียิปต์

อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุราดน้ำมันใส่ไฟใต้ระลอกใหม่ของระบอบทักษิณ ซึ่งเดินหน้าปลุกปั้นความเป็น “รัฐตำรวจ” โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อแบบหัวปักหัวปำในข้อมูลตำรวจ นำไปสู่การกวนอำนาจบริหารราชการในชายแดนใต้ให้ปั่นป่วน มีการยุบทิ้งหน่วยงานสำคัญอย่างกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ทหารถอนเข้ากรมกอง แต่ให้ตำรวจออกมาใหญ่รับหน้าที่แทน ซึ่งไฟใต้ระลอกใหม่นี้ถือเอาเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นจุดเริ่มในต้นปี 2547 นั้น

ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ลุกโชนระลอกใหม่นี้ ก็ยังคงมีการเดินทางไปเจรจากันระหว่าง “นายทหารจากกองทัพไทย” กับ “ตัวแทนขบวนการพูโลเก่า” มาโดยตลอด ซึ่งบุคคลที่มีเป็น “คีย์แมน” ของกองทัพรับหน้าที่เจรจา ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ ทองเล็ก พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล พล.ต.อกนิษย์ หมื่นสวัสดิ์ รวมถึงนายทหารระดับ พล.ต. และ พ.อ. ของกองทัพภาคที่ 4 อีกประมาณ 3-4 นาย

จนกระทั่งเมื่อปี 2550 ได้มีการดึงเอา “ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด” อดีตนายกรัฐมนตีของประเทศมาเลเซีย มาเป็นคนกลาง มีการนัดประชุมแดนนำของขบวนการพูโลเก่าและขบวนการอื่นๆ ด้วย แต่ได้ยกเว้น “ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต” และ “ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี” มาร่วมเจรจา

และสุดท้ายผลการเจรจาในครั้งนั้นก็ไม่บรรลุเป้าประสงค์ตามต้องการ เนื่องจากตัวแทนของขบวนการต่างๆ ที่มาร่วมโต๊ะเจรจาล้วนเป็นผู้ที่ไม่มีบทบาทในการที่จะสั่งการให้ “แนวร่วม” ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ยุติการปฏิบัติการลงได้

แต่การเจรจาระหว่างนายทหารกลุ่มหนึ่ง กับคนของขบวนการพูโล และเบอร์ซาตู ก็ยังคงมีการดำเนินการไปโดยตลอด จนกระทั่งสุดท้ายมีนายทหารระดับ “พล.ท.” นายหนึ่งเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจากับสมาชิกของขบวนการพูโลเก่าที่ประเทศเยอรมนี หลังจากการเสียชีวิตของ “ตวนกูนีรอ ตอกอนีรอ” ประธานขบวนการพูโลเก่า เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการ “อัดเทป” เพื่อนำมาออกอากาศแสดงเจตนารมณ์ของ “นายลุกมาน บินลีมา” ที่ตั้งตนเป็นผู้นำกลุ่มใต้ดิน เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยกำลังและอาวุธ

ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ปฏิบัติการนี้นอกจากจะเป็นเรื่อง “การเมืองในประเทศไทย” แล้ว ยังเป็นเรื่อง “การเมืองของขบวนการพูโลเก่า” ด้วย เนื่องเพราะมีการแย่งชิงตำแหน่งประธานขบวนการพูโลเก่าแทน “ตวนกอบีรอ ตอกอนีรอ” ที่เพิ่งเสียชีวิตไป โดยมีการประชุมและเกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มสมาชิกระดับนำ

และเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า “นายลุกมาน บินลีมา” ฉวยโอกาสนี้ประกาศตัวเป็นหัวหน้า “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งประธานขบวนการพูโลเก่าคนต่อไป

ข้อเท็จจริงอีกหนึ่งเรื่อง คือ กองทัพบก, กองทัพภาคที่ 4, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยข่าวความมั่นคงทุกหน่วย ต่างมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผู้ที่บงการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้นั้น เป็นฝีมือของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต”

อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือประธานขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตที่แท้จริง รู้แต่เพียงว่า “นายสะแปอิง บาซอ” อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ น่าจะประธานขบวนการ มี “นายมะแซ อุเซ็ง” เป็นผู้บัญชาการกองกำลัง

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นไม่เคยออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เคยยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ปฏิเสธ และไม่ตอบรับในข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้บงการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดน

และที่สำคัญ “แนวร่วมกลุ่มอาร์เคเค” ในพื้นที่ ต่างไม่ยอมรับแกนนำของขบวนการพูโลเก่าในการ “ชี้นำ” และยังมีการสั่งห้ามแกนนำขบวนการพูโลเก่า รวมถึงขบวนการพูโลใหม่ในพื้นที่ยุ่งเกี่ยวกับการกระทำของแนวร่วมอาร์เคเคในพื้นที่อย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้แล้ว การที่ “รัฐบาล” และ “กองทัพ” ไม่ออกมาแถลงข่าวเพื่อชี้ให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศรับทราบถึง “ข่าวดี” ในเรื่องนี้โดยทันที จึงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่ารัฐบาลและกองทัพเองก็ยังไม่เชื่อว่า “นายลุกมาน บินลีมา” เป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่ชายแดนใต้หยุดก่อความไม่สงบได้จริง

ดังนั้น การวางเฉยของรัฐบาลและกองทัพต่อเรื่องที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร แถลงนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจริง รัฐบาลและกองทัพก็ไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นความเสียหายส่วนตัวของ พล.อ.เชษฐาและคณะเพียงอย่างเดียว

แต่หากเรื่องที่มีการแถลงข่าวปรากฏเป็นเรื่องจริงขึ้นมา สถานการณ์ไฟใต้มอดดับ ปราศจากเสียงปืน เสียงระเบิด และการตกตายของชีวิตประชาชน นอกจาก พล.อ.เชษฐาจะกลายเป็น “ฮีโร่” ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง “รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม” แล้ว รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังได้รับ “ความชอบ” ไปด้วยอย่างเต็มๆ ที่สามารถยุติสถานการณ์ไฟใต้ที่เลวร้ายได้ในรัฐบาลของตนเอง

ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะมีคำตอบที่ “สมบูรณ์” จากพื้นที่ชายแดนใต้ได้นั้น สังคมคงต้องรอพิสูจน์กันต่อไปว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา นับแต่นี้ไปจะคลี่คลายไปสู่สันติ

เมื่อถึงเวลานั้น “นายลุกมาน บินลีมา” จึงคือผู้นำ “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” ที่แท้จริง และ “พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร” คือคนที่คนไทยทั้งแผ่นดินต้องให้ความเคารพในฐานะที่เป็นผู้ยุติไฟใต้อันยืดเยือยาวนานลงได้อย่างแท้จริง

แต่ในทางกลับกันแล้ว ถ้าสถานการณ์ไฟใต้ยังคงคุกรุ่นรุนแรงต่อไป นั่นก็หมายถึงภาพและข่าวที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อช่วงข่าวเที่ยวของวันที่ 17 ก.ค.นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ “ปาหี่” ครั้งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกไว้




กำลังโหลดความคิดเห็น