ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กรรมการผู้จัดการ บริษัทสองแผ่นดิน จำกัด หนึ่งในบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง เผยสัมปทานใหม่ตั้งวงเงินประกันซองสูงลิบถึง 75% ของราคากลาง หรือ 470 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินความจำเป็นและทำให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลขยาด จี้ทบทวนใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้มีการประมูลแข่งขันด้วยกติกาที่โปร่งใส เป็นธรรมกับรายใหม่ๆ พร้อมหนุนให้มีการหันมาดูแลด้านการท่องเที่ยวและชูจุดขายของจังหวัดซึ่งมีรังนกอีแอ่นคุณภาพดีที่สุดในโลก
ก่อนที่สัมปทานรังนกอีแอ่นในท้องที่ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ของบริษัทสยามเนสต์ จำกัด จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2551 นี้ คณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงโดยมีนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่างสัญญาสัมปทานได้ยกร่างสัมปทานใหม่ ซึ่งส่อเค้าวุ่นวายเนื่องจากมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎเกณฑ์ใหม่ แม้ว่าได้มีการขายซองการประมูลในวันที่ 2-23 กรกฎาคม 2551 และจะเปิดซองประมูลราคาในวันที่ 24 ก.ค.2551 ระหว่างเวลา 09.00-10.00 น. ณ ห้องประชุมไพรวัลย์ ชั้น 5 ศาลางกลางจังหวัดพัทลุง
นายบัญญัติ พัทธธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทสองแผ่นดิน จำกัด หนึ่งในบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สัมปทานใหม่ที่มีการยกร่างใหม่ได้เพิ่มระยะเวลาสัมปทานจาก 5 ปี เป็น 7 ปี ด้วยราคากลางในการประมูล 627 ล้านบาท โดยผู้ประมูลต้องซื้อซองประมูล 150,000 บาท และมีเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารในการประกันซอง ร้อยละ 75 หรือคิดเป็นเงิน 470 ล้านบาท ส่วนการทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นต้องวางเงินสดประกันสัญญา 10% ของเงินอากรที่ประมูลได้ ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร
“การเรียกค่าประกันซองสูงถึงร้อยละ 75 อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้รับสัมปทานแต่อย่างใด จะทำให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องใช้หลักทรัพย์สูง อาจจะทำให้มีผู้ร่วมแข่งขันน้อยเพราะติดขัดในข้อนี้ และผู้ที่ได้รับสัมปทานเดิมอาจจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันถ้าบริษัทใดได้รับสัมปทานแล้วสามารถวางเงินสดประกันสัญญาเพียง 10% จากเดิมที่ค้ำประกันสูงถึง 200%” นายบัญญัติกล่าวต่อและว่า
สำหรับหมู่เกาะสี่ เกาะห้านั้น ทั้งหมด 11 เกาะ โดย 7 เกาะที่มีนกอีแอ่นทำรังภายในถ้ำราว 300 แห่ง ซึ่งหลายแห่งมีทั้งรังนกสีดำที่เก็บได้ตลอดทั้งปี และรังนกสีขาวเก็บได้ปีละ 3 ครั้ง และมีราคาแพงที่สุดในโลก แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่มีรังนกนางแอ่นเพียงชนิดเดียว และมีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีคุณสมบัติของรังนกที่ดีที่สุดในโลก เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารนกที่อุดมสมบูรณ์ แม้ว่าปริมาณการเก็บได้แต่ละปีไม่ได้มากที่สุดก็ตาม แต่ด้วยคุณภาพทำให้แนวโน้มราคารังนกจากเกาะสี่เกาะห้าแพงขึ้น ทำให้ธุรกิจรังนกเป็นที่สนใจของนักลงทุน และเป็นที่จับตามองของการประมูลสัมปทานรังนกในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย
“เดิมทีรังนกนางแอ่นถูกผูกขาดสัมปทาน โดยบริษัทแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ภายหลังจากมีการแก้ไขให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดประมูลสัมปทาน และให้ อบจ.เป็นคู่สัญญาแทนกรมสรรพากร ทำให้รายได้จากสัมปทาน 40% เป็นของท้องที่ตั้งของรังนก และอีก 60% กระจายสู่ทุกท้องถิ่นในจังหวัด”นายบัญญัติกล่าวต่อและว่า
นอกจากรังนกจะมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบอีกด้วย แต่เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวสัมผัสความยิ่งใหญ่ของจุดกำเนิดรังนกที่ได้ เพราะบริษัทที่ได้รับสัมปทานไม่ได้มองเห็นด้านความสำคัญด้านการท่องเที่ยวมากนัก การอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ตั้งไปไปชมรังนก จึงไม่สะดวกเท่าที่ควร และไม่กระทบต่อการทำรังนกในถ้ำหากไม่เกิดการทำร้ายนก แต่ถ้าสามารถบูรณาการจัดท่องเที่ยวเข้าถึงการเก็บรังนกได้ ก็จะเป็นจุดขายที่โดดเด่นกว่าท้องถิ่นอื่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.พัทลุงให้เป็นที่รู้จัก สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น ที่ปัจจุบันมีรายได้จากการบริการนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม สัญญาใหม่ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่นต้องมีการอนุรักษ์พันธุ์นก และดูแสสภาพแวดล้อม ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสถานที่ประทับของ ร.5 และพระโอรส ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวย้อนรอยเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงจัดสร้างท่าเทียบเรือเพื่อสนับสนุนกิจการท่องเที่ยวของ จ.พัทลุง