xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลรังนกเกาะสี่-เกาะห้าวุ่น/บ.รักนกร้องผู้ว่าฯทบทวนข้อกำหนดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง – การประมูลราคารังนกพัทลุงวุ่น บ.รังนกยื่นหนังสือ ถึงผวจ.พัทลุง ขอให้ทบทวน แก้ไขข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การประมูล

ผู้สื่อข่าว จ.พัทลุง รายงานว่า จากกรณีสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่นในท้องที่ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2551 นี้ ซึ่งทางคณะกรรมการรังนกจังหวัดพัทลุง ได้ยกร่างสัญญาขึ้นมาใหม่ โดยได้พิจารณาเพิ่มราคากลางรังนกจากการประมูลราคาในรอบที่ผ่านมาจำนวน 500 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เป็นราคาประมูล 627 ล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งผู้ที่ต้องการจะประมูลเก็บรังนกจะต้องซื้อซองประมูลเป็นเงิน 150,000 บาท มีเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารในการประกันซอง 75 เปอร์เซ็น จำนวน 470 ล้านบาท

ส่วนการทำสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น ผู้ได้รับการประมูลฯ จะต้องวางเงินสดประกันสัญญาร้อยละ 10 ของเงินอากรที่ประมูลได้ ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร โดยจะเปิดขายซองการประมูลในวันที่ 2-23 กรกฎาคม 2551 และจะเปิดซองประมูลราคาในวันที่ 24 ก.ค.2551 ระหว่างเวลา 09.00-10.00 น.ณ ห้องประชุมไพรวัลย์ ชั้น 5 ศาลางกลางจังหวัดพัทลุง นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนสายวันนี้ (1 ก.ค.) นายพิพัฒน์ อมรวัตพงศ์ ตัวแทนบริษัทเบสเนสท์จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 5 ถนนวิเศษกุล ซ.3 ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมพวก เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุเทพ โกมลภมร ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง เพื่อขอให้พิจารณา และแก้ไขข้อบังคับ หลักเกณฑ์ การประมูลเงินอากรนกอีแอ่น จ.พัทลุง

เนื่องจากทางบริษัทเห็นว่าวันที่มีการประมูลกระชั้นชิด และเงื่อนไข หลักเกณฑ์หลายประการที่ทางคณะกรรมการฯ กำหนดไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรม และขัดต่อกฎหมายหลายประการ อันแสดงให้เห็นว่าการแข่งขันเข้าประมูลในครั้งนี้ มิได้เปิดกว้าง สร้างเงื่อนไขโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และกฎหมายหลายประการ ทางบริษัทฯ จึงขอเสนอให้ทางคณะกรรมการฯได้มีการพิจารณา ทบทวน และแก้ไขหลักเกณฑ์(บางประการ) ที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง

นายพิพัฒน์ อมรวัตพงศ์ กล่าวว่า การเปิดประมูลรังนกกันในวันที่ 24 ก.ค. 51 นั้น เป็นเวลาที่กระชั้นชิด เร่งร้อน และรวดเร็วเกินไป อันทำให้ผู้สนใจเข้าแข่งขันไม่อาจรับทราบกันอย่างแพร่หลาย และไม่อาจจัดเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่ทางคณะกรรมการฯ กำหนดได้ ส่วนการวางหลักประกันซองที่กำหนดให้ผู้เสนอประมูลจะต้องวางหลักประกันซองร้อยละ 75 ของราคาขั้นต่ำ จำนวน 627 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน 470 ล้านบาทนั้นเป็นเงื่อนไขที่ไม่สมควร และไม่เคยปรากฏมาก่อนว่ามีคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดใดหรือหน่วยงานราชการใดมีการกำหนดหลักประกันซองสูงถึง ร้อยละ 75 เช่นนี้มาก่อน

ในส่วนของการกำหนดให้ผู้ชนะการประมูล จะต้องวางหลักประกันในการเข้าทำสัญญาสัมปทาน 100 เปอร์เซ็น ของราคาที่ประมูลได้ โดยวางเป็นเงินสด ร้อยละ 10 ของเงินที่ประมูลได้ ส่วนที่เหลือทั้งหมดให้วางเป็นเงินหรือหนังสือค้ำประกันธนาคารในประเทศนั้น ทางบริษัทเห็นว่าเป็นการกำหนดหลักประกันที่เกินเกณฑ์ หรือเกินสมควร และขัดต่อกฎหมาย เพราะการวางหลักประกันในการเข้าทำสัญญาสัมปทานนั้น มีเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในกรณีที่ผู้ที่ได้รับสัมปทานไม่อาจปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเท่านั้น ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีโอกาสที่ผู้ให้สัมปทานจะได้รับความเสียหายเต็มจำนวนทั้ง 100 เปอร์เซ็นแต่อย่างใด

นายพิพัฒน์ อมรวัตพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าคณะกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่ในการให้ และเพิกถอนการให้สัมปทานการจัดเก็บรังนกอีแอ่น ในเขตท้องที่ จ.พัทลุง ได้ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวก็หาได้ให้อำนาจหรือมีบทบัญญัติใดอย่างเด็ดขาด ที่จะให้อำนาจแก่คณะกรรมการฯ ที่ร่วมกันกำหนด เงื่อนไข หรือวิธีการในการวางหลักประกันซอง หรือหลักประกันสัญญาตามอำเภอใจหรือเกินสมควรก็หาไม่ แต่จะต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งความถูกต้อง ชอบธรรม เป็นหลัก

ในเรื่องนี้ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งได้กำหนดและวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว โดยมิได้กำหนดหรือวางหลักประกันสูงถึงจำนวนดังกล่าวไม่ ทั้งยังเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และกฎหมายว่าด้วยวิธีการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 ที่กำหนดไว้ว่า การทำสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชนนั้น รัฐจะต้องให้ความยุติธรรม หรือให้ความเป็นธรรมแก่คู่สัญญา ถ้าข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดขัดต่อกฎหมายนี้จะต้องถูกเพิกถอนหรือไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งในการเปิดประมูลและให้สัมปทานของคณะกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ.2546 ก็เคยเกิดปัญหาในเรื่องของการวางหลักประกันซอง และหลักประกันสัญญามาครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งที่ได้มีการกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในการประมูลดังกล่าว จนต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนหลักประกันสัญญาในภายหลัง ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว

ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงขอให้ทางคณะกรรมการฯ ได้โปรดทบทวน แก้ไข เพื่อมิให้บุคคลใดกล่าวอ้าง หรือโต้แย้งว่า การเปิดประมูลเงินอาการรังนกอีแอ่นในครั้งนี้ มิได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรี แต่มีเจตนา หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น โดยรัฐจะเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจจะมีการร้องเรียนหรือนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น