xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” เผยชาวหาดใหญ่พอใจผลงานฝ่ายค้านซักฟอก “นพดล-เขาพระวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจและประเด็นการเมือง จำนวน 980 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2551

สรุปผลการสำรวจกรณีปราสาทพระวิหาร ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.9 เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (เกี่ยวกับการทำสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมประเทศ หรือมีความผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าการทำสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ร้อยละ 8.5 เห็นว่า ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยให้เหตุผลว่า เป็นอำนาจรัฐสามารถทำได้ และร้อยละ 19.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ในกรณีปราสาทพระวิหารจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการเสียดินแดน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 56.4 มีความเห็นว่าประเทศไทยอาจเสียดินแดนให้กัมพูชา ร้อยละ 24.0 คิดว่าประเทศไทยไม่เสียดินแดน และร้อยละ 19.6 ไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 53.6 เห็นว่าในกรณีปราสาทพระวิหาร มีการเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จริงตามข้อกล่าวหาของพันธมิตรและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละ 26.5 เห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนในครั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 19.9 ไม่แสดงความคิดเห็น

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.5 ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นบางครั้ง ร้อยละ 32.5 ติดตามการอภิปรายเป็นประจำ และร้อยละ 5.0 ไม่ได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย และเมื่อประเมินความพึงพอใจในผลงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร์ (นายชัย ชิดชอบ) พบว่า ประชาชนร้อยละ 47.2 มีความพึงพอใจผลงานประธานสภาผู้แทนราษฎร์ ในระดับปานกลาง และร้อยละ 37.3 พึงพอใจผลงานในระดับน้อยถึงน้อยที่สุดมีเพียงร้อยละ 15.5 พอใจผลงานในระดับมากถึงมากที่สุด

ส่วนจากการประเมินผลงานการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา พบว่า ประชาชน พอใจผลงานของฝ่ายค้าน มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 7.21 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมา เป็นวุฒิสภาและฝ่ายรัฐบาลมีค่าเฉลี่ย 5.49 และ 4.00 ตามลำดับ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนที่ประเมินผลงานของรัฐบาลจากผลงานการตอบคำถามและชี้แจงของรัฐบาล พบว่าประชาชนให้ความไว้วางใจในนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ดังนี้

รายชื่อคณะรัฐมนตรีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละความคิดเห็นของประชาชน
ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ
นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) 5.5 94.5
นายนพดล ปัทมะ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) 9.7 90.3
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) 38.3 61.7
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) 45.2 54.8
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) 16.7 83.3
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) 23.4 76.6
นายสันติ พร้อมพัฒน์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) 30.1 69.9
นายทรงศักดิ์ ทองศรี (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) 29.5 70.5


นอกจากนี้ ประชาชนยังให้ความคิดเห็นหรือการคาดการณ์เกี่ยวกับการเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 23.3 ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง มากที่สุด รองลงมา มีการปรับคณะรัฐมนตรี ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คิดเป็นร้อยละ 21.7 21.7 และ 15.7 ตามลำดับ

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่วมงานของพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 55.1 เห็นว่าพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน มีความไม่เหมาะสมในการอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป และร้อยละ 44.9 เหมาะสมที่สองพรรคดังกล่าวจะร่วมรัฐบาลอีก

นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 52.4 ต้องการเห็นรัฐบาลทบทวนปราสาทเขาพระวิหาร มากที่สุด รองลงมา ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คิดเป็น ร้อยละ 52.3 และ 50.8 ตามลำดับ

ส่วนนโยบายที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยประชาชนในการแก้ปัญหาต่างๆ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.9 ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน มากที่สุด รองลงมา คือปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสมานฉันท์ของคนในสังคม และการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 64.6 46.7 และ 41.5 ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง
1.รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง (12 คน)
2.ปัญหาเศรษฐกิจและราคาสินค้าอุปโภคที่สูงขึ้น (10 คน)
3.ปัญหาการศึกษา (9 คน)


กำลังโหลดความคิดเห็น