ปัตตานี - เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ พบผู้บริหารสถานศึกษา ทั้ง 3 เขต ของจังหวัดปัตตานี ระบุ เตรียมหารือกับ ศอ.บต.เพื่อจัดงบประมาณติดตั้งกล้องวงจรปิดให้กับโรงเรียนที่ยังไม่มี เผยไม่มั่นใจว่าครูจะปลอดภัย แต่จะประสานให้มีการ รปภ.อย่างดีที่สุด
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่สำนักงานงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ได้พบปะกับผู้บริหารสถานศึกษา ทั้ง 3 เขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดปัตตานี ประมาณ 100 คน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาครูและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของ จ.ปัตตานี
ประเด็นหลักที่มีการพูดคุย คือ เรื่องความปลอดภัยของครูและนักเรียน ในโอกาสเปิดเทอมแรกของปีการศึกษา 2551 และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและความสามารถในการดึงดูดนักเรียนให้มาเรียนหนังสือเพิ่มขึ้น
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงเรื่องการดูแลความปลอดภัยครูและนักเรียน ว่า จังหวัดและอำเภอได้มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลครูร่วมกันเป็นอย่างดี และทุกจุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มักเกิดเหตุประจำจะมีการจัดกำลังดูแลเป็นพิเศษ
ส่วนเรื่องเวลาเรียน ได้มีการหารือว่าจะมีการยืดเวลาเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ก็ให้แต่ละโรงเรียนคุยกัน แต่เห็นว่าไม่ควรเลิกเรียนก่อนเวลา 15.00 น.และควรเลิกไม่หลัง 16.00 น. เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาได้ ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของแต่ละโรงเรียน
สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่มี 3 เรื่อง คือ เรื่องรั้วและวงจรปิด ที่ส่วนมากโรงเรียนยังไม่มี ซึ่งจะได้มีการหารือกับ ศอ.บต.เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณติดตั้งวงจรปิดในโรงเรียนที่ยังไม่มี เพราะปีที่แล้วได้รับงบสนับสนุนจาก ศอ.บต.ประมาณ 100 กว่าโรง ส่วนปัญหาจุดยูเทิร์นและเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอที่มักเกิดเหตุบ่อย จะได้คุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดและอำเภอจัดกำลังดูแลส่วนนี้
“เท่าที่รับฟังจากครู เขามีความมั่นใจในมาตรการการดูแลความปลอดภัย เพราะทุกฝ่ายให้ความสำคัญ แต่จะยืนยันว่ามีความมั่นใจปลอดภัยหรือไม่ คงบอกไม่ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขอยืนยันว่าจะพยายามดูแลครูและนักเรียนให้ดีที่สุด”
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คุณภาพการศึกษาในหลายวิชาดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะประเมินผลคุณภาพการศึกษาโดยรวมในหลายด้าน
ส่วนนโยบายนั้นจะเป็นการสานต่อนโยบายเดิมเพราะเพิ่งเริ่มมา 2 ปี เช่น โรงเรียน 2 ระบบ และการนำ 2 ภาษามาใช้ในโรงเรียน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก และในปีนี้จะเน้นการพัฒนาคุณภาพด้านการเขียนในระดับอนุบาลและประถม จากการทดลองทำทั่วประเทศ 900 กว่าโรงพบว่า เด็กมีการพัฒนาการเขียนดีขึ้น ในปีนี้จะมีการขยายในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องภาษาที่บ้านกับที่โรงเรียนไม่เหมือนกันอย่างพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้