ยะลา - รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เข้าพบพ่อเมืองยะลา และประชุมผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อหารือมาตรการรักษาความปลอดภัยครู และ โรงเรียน
วันนี้ (15 พ.ค.) เวลา 10.30 น.ที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ขั้น 2 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา (หลังใหม่) ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และนายกฤษฎา บุญราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ฝ่ายความมั่นคง) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมารับฟังข้อมูลมาตรการเกี่ยวกับการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคลากรครู และ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ว่า เป็นอย่างไร ประสบปัญหาในเรื่องใดบ้าง
หลังจากนั้น ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนอนุบาลยะลา เพื่อเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา และผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 120 คน มีการประชุมเกี่ยวกับการดูแลรักษาความปลอดภัยครู และโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งมารับฟังข้อกังวลใจ ต่างๆ ของครูในพื้นที่ว่าต้องการอะไร
ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ กพฐ.ยังได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวน 11,185 บาท ที่ได้รับบริจาคจากครูในพื้นที่มอบให้กับครอบครัว ของ ด.ช.ซูไฮมี ดอเลาะ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ได้รับบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด รถจักรยานยนต์บอมบ์ เหตุเกิดที่หมู่ที่ 1 บ้านตลิ่งชัน ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2551 จนต้องกลายเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินได้ ตลอดชีวิต ซึ่งในขณะนี้ ด.ช.ซูไฮมี ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ขณะนี้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยของครูในพื้นที่ เป็นอย่างยิ่งขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยให้กับครูในพื้นที่ เป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฝาก ว่า ให้ครูทุกคนร่วมมือปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ อย่าประมาท และแตกแถว ส่วนเรื่องการทำงาน และดูแลครูในด้านอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในยามวิกฤต
สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานจะได้เร่งส่งเสริม ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ซึ่งจากผลการประเมินผลการสอบเอ็นที จะเห็นได้ว่า ในบางส่วนเด็กได้มีการพัฒนาขึ้น เช่น วิชาภาษาอังกฤษ
ส่วนกรณีที่ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความกังวลเรื่องอาหารกลางวันของนักเรียน เนื่องจากราคาข้าวสาร และวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น หลายฝ่ายเกรงว่านักเรียนจะมีอาหารกลางวันรับประทานไม่เพียงพอ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะได้มีการเพิ่มค่าอาหารกลางวันอีก 2 บาท จาก 10 บาท เป็น 12 บาท
รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวอีกว่า สำหรับครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการขอเลื่อนวิทยฐานะ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดูแลอย่างเต็มที่โดยจะปรับในเรื่องจำนวน และระยะเวลา เช่น ครูภาคอื่นต้องทำงานในปกติ 2 ปี แต่ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะร่นระยะเวลาให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งครูสามารถมีระยะเวลาในการทำผลงานได้เร็วขึ้น แต่เรื่องคุณภาพต้องทำเหมือนที่อื่น