xs
xsm
sm
md
lg

สนนท.ร้องกรรมการสิทธิฯสอบซ้อมนักศึกษาใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ - นักศึกษาเข้าร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิฯ กรณีซ้อมทรมานนักศึกษา 7 ราย พลเรือน 2 คน หลังถูก ฉก.11 บุกจับและกักตัวร่วมสัปดาห์ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาต่อต้านทรมาน หวั่นเป็นการสกัดกิจกรรมนักศึกษา ขณะที่อนุกรรมการฯ รุดลงพื้นที่สอบก่อนร่องรอยจะหาย

วันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 14.00 น.ตัวแทนนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรเครือข่ายประมาณ 40 คน เข้าร้องเรียนต่ออนุกรรมการเฉพาะกิจรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในเรื่องการซ้อมทรมานนักศึกษา 7 คน และพลเรือน 2 คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายวสันต์ พานิช กสม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ตัวแทน สนนท. ระบุว่า นักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้ถูกจับกุมตัวโดยทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 เมื่อวันที่ 27 และวันที่ 29 ม.ค.2551 โดยระบุว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ในระหว่างการควบคุมตัวได้รับทราบจากญาติของผู้ถูกจับกุมว่ามีการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพเกิดขึ้น แม้ว่าในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวออกมาแล้ว 5 คน แต่ก็ยังมีหวาดระแวงอยู่

ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนได้ระบุว่า การซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวถือเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติไปเมื่อเดือน ต.ค.2550 โดยคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลดังกล่า สนนท.จึงเรียกร้องให้ กสม.ตรวจสอบการซ้อมทรมานในกรณีดังกล่าวพร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และหากสอบสวนแล้วมีมูลจริงก็ขอให้มีการดำเนินการรับผิดชอบอย่างยุติธรรม

นายตูแวดานียา กล่าวด้วยว่า น่าสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เหมือนเป็นการตัดตอนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรนักศึกษาในพื้นที่ซึ่งเพิ่งจัดตั้งเพียงไม่กี่เดือนหลังการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้แก่ สมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) โดยพบว่าหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมมีบทบาทเป็นกรรมการ สนย.

นายวสันต์ กล่าวว่า ทางอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้ส่งตัวแทนของอนุกรรมการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว ในขณะที่ก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้าพบผุ้ถูกควบคุม แต่ได้รับการปฏิเสธ กระทั่งได้มีการปล่อยตัวออกมาบางส่วนเมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนในวันนี้ได้มีการพยายามขอเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวที่เหลืออีก 5 คนที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ จ.ยะลา อีกครั้ง

“ในกรณีอย่างนี้ทางอนุกรรมการฯ จะต้องรีบเดินทางเข้าเยี่ยมโดยด่วน เพราะถ้าช้าเกินไป บาดแผลหรือร่องรอยที่จะต้องตรวจสอบอาจหายไป”

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากกรณีของนักศึกษาแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวจะเข้าตรวจสอบกรณีซ้อมทรมานในทุกกรณีที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่ไม่ปกติ อาทิเช่น กรณีที่อยู่ในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นต้น ส่วนในกรณีที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมตามปกติก็จะเป็นคณะอนุกรรมการฯ อีกชุดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบจะต้องสอบถามจากผู้ถูกคุมตัวและฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการทำรายงานสรุปและข้อเสนอเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในวาระต่อไป

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อจากการปฏิบัติงานของแก๊งค์ ตชด. ก็สามารถแจ้งต่อทาง กสม.เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้รัฐบาลจะต้องทำรายงานสรุปเพื่อส่งให้สหประชาชาติในฐานะที่เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านกรทรมาน ซึ่งหากขัดแย้งกับรายงานของทาง กสม. ทางรัฐบาลก็จะต้องตอบชี้แจงอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น