xs
xsm
sm
md
lg

DPU ร่วมเวที ‘World Chinese Economic Forum (WCEF) ครั้งที่ 12’ ย้ำสัมพันธ์จีนแน่นแฟ้นพร้อมขยายเครือข่ายสู่ระดับสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) สถาบันการศึกษาอันดับต้น ๆ ของไทยที่มีความร่วมมือด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า และอีกหลากหลายด้านกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในประเทศจีนมาอย่างยาวนาน ล่าสุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รับเชิญจากสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ให้เข้าร่วม World Chinese Economic Forum (WCEF) หรือ การประชุมเศรษฐกิจจีนระดับโลก ครั้งที่ 12 จัดขึ้นโดย สถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Strategy Institute : ISI) โดยมี นางสาวเกล็ดทราย อินทรพล ผู้อำนวยการสายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ DPU และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน ระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤศจิกายน 2566 ณ ชิงเถียน มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน

นางสาวเกล็ดทราย อินทรพล ผู้อำนวยการสายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ DPU เปิดเผยว่า World Chinese Economic Forum (WCEF) เป็นงานประชุมเศรษฐกิจจีนระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละครั้ง มายาวนานกว่า 10 ปี โดยเป็นเวทีการประชุมระดับโลกที่รวมตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เน้นความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและส่งเสริมกรอบความคิดด้านการเติบโตทางธุรกิจ ส่งเสริมการเติบโตด้านการจ้างงานและการขยายระเบียงเศรษฐกิจในระดับโลก สอดรับกับแนวนโยบายจีนเชื่อมโลก ภายใต้ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งเป็นนโยบายและแผนการลงทุนระยะยาวของจีน โดยมีเป้าหมายในการหารือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเร่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทางสายไหมเดิมและเพิ่มเติมด้วยแนวเส้นทางใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางเศรษฐกิจที่ก่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

สำหรับการจัดงานครั้งที่ 12 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การประสานความสำเร็จร่วมกันผ่านการเชื่อมต่อระดับโลก : การพัฒนาเศรฐกิจจีนให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเจรจาและการแลกเปลี่ยนบทบาทของจีนในยุคใหม่ ระหว่างผู้นำทางความคิด หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ที่พร้อมรองรับโลกดิจิทัลในอนาคต และส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเรื่องราวของจีนอย่างถูกต้อง


การประชุมเศรษฐกิจจีนระดับโลก ครั้งที่ 12 นี้ ยังเป็นเวทีเชื่อมเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการอภิปรายหลากหลายหัวข้อ อาทิ การค้าและการลงทุนในภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งครอบคลุม 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีประชากรรวมแล้วมากกว่า 2.5 พันล้านคน โดยคิดเป็นสัดส่วนทางการค้ามากกว่า 30% ของโลกและถือเป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ในหัวข้อนี้ มุ่งเน้นไปที่โอกาสใหม่ ๆ และความท้าทายในยุคดิจิทัลที่มีต่อการค้าการลงทุนใน RCEP ตลอดจนการหาวิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและกลยุทธ์การใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเติบโตและความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกหัวข้อสำคัญของเวทีนี้ คือ การร่วมกันหารือเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โอกาสและความท้าทายที่เกิดจากการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทั่วโลกไปด้วยกัน โดย BRI จะส่งเสริมการเชื่อมโยงประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะครอบคลุมทั่วโลก และยังเป็นโครงการที่พลิกโฉมการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะ BRI ทำให้เกิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากมาย จากการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อให้เกิดเส้นทางการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ ๆ และโครงการนี้ยังดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก กระตุ้นให้เกิดการค้าและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

นางสาวเกล็ดทราย กล่าวในตอนท้ายว่า ในฐานะที่ ชิงเถียน เป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งรุ่มรวยด้วยมรดกทางวัฒนธรรม และยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขณะที่ DPU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน โดยมีวิทยาลัยนานาชาติจีน (CIC) ที่มีนักศึกษาจากจีนมาเรียนมากที่สุดในมหาวิทยาลัยของไทย และมีสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่ส่งเสริมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจีน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามแดน การได้รับเชิญเข้าร่วมงาน World Chinese Economic Forum (WCEF) จึงเป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นโอกาสพิเศษ ที่ DPU ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งสำคัญ รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการขยายเครือข่ายสู่ระดับโลก และกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรชาวจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังได้รับทราบนโยบายเศรษฐกิจ การค้า การจ้างงาน ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมหรือมีนโยบายสนับสนุน ซึ่งล้วนเชื่อมโยงและนำมาประยุกต์เข้ากับการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการหรือบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และทิศทางการศึกษาในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น