xs
xsm
sm
md
lg

Hi Jiangsu : ตามรอยไซอิ๋ว ย้อนรอยซำปอกง เส้นทางสายไหมเปลี่ยนโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มณฑลเจียงซู ฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของเส้นทางสายไหม ด้วยยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จนเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน

แนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” Belt and Road Initiative (BRI) ที่นำเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครบรอบวาระ 10 ปีในปีนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวว่าความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้เข้าสู่ขั้นตอน "พิถีพิถัน" จะเน้นสร้างโครงการที่ "เล็กแต่สวยงาม" และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้นำจีนย้ำว่า นับจากนี้จีนจะสร้าง “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง”

มณฑลเจียงซู ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน ที่เรียกกันว่า เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี ซึ่งมี 3 มณฑลสำคัญ คือ เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง

เซี่ยงไฮ้ เป็นมหานครที่มีความเป็นสากล และเป็นที่รู้จักของคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี
มณฑลเจ้อเจียง มีเมืองหังโจวที่เพิ่งเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ และได้วางยุทธศาสตร์ของตัวเองว่าเป็นเมืองไฮเทค มีบริษัทไอที นวัตกรรมอยู่ที่เมืองเมืองหังโจว จำนวนมาก
ทว่า มณฑลเจียงซู กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มณฑลเจียงซูมีขนาดทางเศรษฐกิจที่คิดจาก GDP สูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศจีน เป็นรองจากมณฑลกว่างตง หรือกวางตุ้งเท่านั้น


เหลียนหยุนกั่ง บ้านเกิด “ซุนหงอคง”

มณฑลเจียงซูมีความเกื่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมตั้งแต่ยุคอดีต ในนิยายชื่อดังเรื่อง “ไซอิ๋ว” ตัวละครสำคัญคือ “ซุนหงอคง” ถือกำเนิดขึ้นที่ภูเขา “ฮวากั่วซัน” ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ที่เมืองเหลียนอวิ๋นกั่ง มณฑลเจียงซู

ทุกวันนี้ ร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวต่างใช้เทพวานรเป็นสัญลักษณ์ และมีของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับ “หงอคง” มากมาย

ในตำนาน เมืองเหลียนอวิ๋นกั่ง เป็นจุดกำเนิดของนิยายเรื่องไซอิ๋ว ที่พระถังซัมจั๋งกับลูกศิษย์เดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป ซึ่งก็คือ เส้นทางสายไหม นั่นเอง


ส่วนในความเป็นจริง เมืองเหลียนอวิ๋นกั่ง เป็นเมืองท่าริมทะเลแห่งแรกๆ ที่จีนเปิดให้ติดต่อกับต่างประเทศ และยังเป็นจุดเริ่มต้นทางฝั่งตะวันออกของ เส้นทางคมนาคมระหว่างจีนกับยุโรป หรือ new Eurasian land bridge เส้นทางนี้เริ่มต้นจากเมืองเหลียนอวิ๋นกั่ง ไปจนถึงเมืองรอตเทอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ โดยผ่านประเทศคาซัคสถาน รวมความยาวมากกว่า 10,000 กิโลเมตร


ณ ท่าเรือเหลียนอวิ๋นกั่ง มีอนุสาวรีย์หลักกิโลเมตรที่ 0 ของเส้นทาง New Eurasian land bridge และหัวจักรรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ที่ขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรป

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้มาเยือนท่าเรือเหลียนอวิ๋นกั่งเมื่อปี 2552 และได้บอกว่าเส้นทางนี้จะเป็น “ไซอิ๋วยุคใหม่” แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงรู้เรื่องตำนานไซอิ๋วที่มีต้นกำเนิดที่มณฑลเจียงซูเป็นอย่างดี และต้องการที่จะให้แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นเส้นทางสายใหม่ยุคใหม่ ที่ติดต่อระหว่างจีนกับโลกตะวันตก หรือก็คือชมพูทวีปในตำนาน


ต้นทาง “ซำปอกง” เดินเรือสำรวจโลก

เรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายใหม่ทางทะเล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือเรื่องของ “เจิ้งเหอ” ผู้บัญชาการทหารเรือของจีนในยุคราชวงศ์หมิง

เจิ้งเหอได้เดินเรือสำรวจทางทะเลเป็นระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ไปเยือนดินแดนต่างๆ มากกว่า 37 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพระพุทธรูปใหญ่ที่เรียกกันว่า หลวงพ่อซำปอกง ซึ่งก็คือชื่อของเจิ้งเหอนั่นเอง

เมืองไท่ชัง มณฑลเจียงซู เป็นจุดเริ่มต้นที่เจิ้งเหอออกเดินเรือสำรวจโลก 7 ครั้ง มีการสร้าง พิพิธภัณฑ์เจิ้งเหอ ภายในพิพิธภัณฑ์มีการกล่าวถึงประเทศไทยด้วย

ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ระบุว่า เจิ้งเหอเดินทางมาเยือนสยาม หรือในภาษาจีนเรียกว่า “เสียนหลัว” 2 ครั้ง คือ ในการเดินเรือครั้งที่ 2 ปี 1407 และการเดินเรือครั้งที่ 3 ปี 1409 และระบุว่า เจิ้งเหอได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อทำนุบำรุงวัดพนัญเชิงวรวิหาร และพระพุทธไตรรัตนนายก ทำให้ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อซำปอกง


ในบันทึกของเจิ้งเหอยังกล่าวถึงผลไม้อย่าง ทุเรียน มังคุด รวมถึงรังนก ช้าง โดยบรรยายว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีหนาม เมื่อสุกแล้วผิวจะปริออก มีกลิ่นเหม็นเหมือนเนื้อเน่า แต่เนื้อมีรสหวานอร่อย และยังนำไปย่างเพื่อรับประทานได้ รสชาติจะเหมือนกับถั่ว
นอกจากนี้ ยังมีบันทึกไว้ด้วยว่า หลายประเทศได้ให้เจิ้งเหอนำช้างไปเป็นบรรณาการแก่ฮ่องเต้หย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง

การเดินทางของเจิ้งเหอ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นของจีนที่ต้องการติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยบอกว่าจะฟื้นฟูเส้นทางสายใหม่ยุคใหม่


BRI พลิกโฉมโลจิสติกส์

แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้มณฑลเจียงซูที่ชัดเจนที่สุด คือ ระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ เจียงซูมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางคมนาคมอยู่แล้ว เพราะอยู่ติดทะเล มีแม่น้ำแยงซี และยังมีคลอง “ต้าอวิ้นเหอ” ที่ขุดขึ้นเชื่อมระหว่างปักกิ่งกับเมืองหางโจว

เมื่อมีแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ระบบโลจิสติกส์ได้บูรณาการเข้าด้วยกัน จีนได้ผสานการขนส่ง 5 วิธีเข้าด้วยกัน คือ ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ทางราง และทางท่อ เช่น เมื่อสินค้าขนส่งมาขึ้นที่ท่าเรือ สามารถขนส่งต่อไปทางถนน ทางรถไฟ หรือท่อที่เชื่อมมาถึงที่ท่าเรือได้เลย

ระบบรถไฟของจีนที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้สามารถกระจายสินค้าจากเมืองชายฝั่งไปเมืองตอนในของจีนได้อย่างรวดเร็ว และยังส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ตามโครงข่ายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ด้วย ทุกวันนี้ โครงข่ายเส้นทางรถไฟของจีนมีความทันสมัย ทั้งระยะทางที่ไกลขึ้น ทำความเร็วได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ คือเดินรถได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเหมือนการขนส่งทางเรือ นอกจากนี้ ยังมีตู้รถไฟที่มีระบบทำความเย็น รักษาอุณหภูมิ เหมาะกับการขนส่งอาหาร ผักผลไม้ รวมทั้งยาต่างๆ

ระบบโลจิกติกส์ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากของจีนได้ส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วย หลังจากที่มีการเดินรถไฟลาว-จีน สินค้าจากไทยส่งออกไปจีนได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น และกระจายสินค้าได้กว้างไกลมากขึ้น ทุเรียนของไทยที่แต่ก่อนวางขายเฉพาะในเมืองใหญ่ของจีนๆ ทุกวันนี้มีขายในมณฑลทางตะวันตก อย่างซินเจียงด้วยแล้ว ขณะที่สินค้าจากฝั่งจีนก็นำเข้ามายังประเทศไทยได้รวดเร็วขึ้น ผักผลไม้รักษาความสดอร่อยไว้ได้

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็นำมาผลิตได้อย่างทันเวลา ห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพขึ้นมาก จะทำให้ปัญหาสินค้าขาดแคลนไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เหมือนในอดีต


นอกจากเรื่องการค้าขายแล้ว แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังจะสร้างการลงทุนด้วย 10 ปีที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจของจีนได้สร้างรถไฟ ถนน ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในหลายประเทศ แต่ต่อไปนี้หน่วยธุรกิจระดับมณฑลของจีนก็จะมีความร่วมมือกับต่างชาติมากขึ้น ที่มณฑลเจียงซู มีท่าเรือที่เป็นการร่วมทุนระหว่างจีนกับคาซัคสถาน ศูนย์นวัตกรรมจีน-อิสราเอล นิคมอุตสาหกรรมจีน-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ความร่วมมือเหล่านี้ยังขยายมายังต่างประเทศด้วย เช่น นิคมอุตสาหกรรมสีหนุวิลล์ในกัมพูชา ก็เป็นการลงทุนของมณฑลเจียงซู

แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทำให้มณฑลเจียงซู ซึ่งเคยเป็นชุมทางสำคัญของทั้งเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลในอดีตหวนคืนสู่ความรุ่งโรจน์ เป็นศูนย์การคมนาคม การผลิต การลงทุน และเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการไปมาหาสู่ระหว่างผู้คนในทุกวันนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น