xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! ซินเจียง เส้นทางสายไหมที่ฟื้นคืนชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI (Belt and Road Initiative) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนโฉมซินเจียง จากดินแดนที่เคยเผชิญปัญหาก่อการร้ายและแบ่งแยกดินแดน ฟื้นคืนชีวิตบนเส้นทางสายใหม่ยุคใหม่

ผู้สื่อข่าว MGR online ได้เดินทางไปซินเจียง และได้สัมผัสถึงนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนโฉมซินเจียง

มณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ทางภาคตะวันตกที่สุดของประเทศจีน เป็นมณฑลที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน แค่ซินเจียงมณฑลเดียวมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศถึงกว่า 3 เท่าตัว

ในอดีตซินเจียงเป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ลำบาก ทั้งด้วยการคมนาคมที่ไม่สะดวก และปัญหาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มีเหตุก่อการร้าย วินาศกรรมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซินเจียงเป็นพื้นที่ที่ทางการจีนใช้มาตรการควบคุมความมั่นคงที่เข้มงวด

แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมืองต่างๆ ในซินเจียงมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและมีเที่ยวบินจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเดินทางไปซินเจียงอย่างคึกคัก ในช่วงวันหยุดวันชาติจีนที่ผ่านมา ซินเจียงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน มีการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวซินเจียงเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


ซินเจียงเป็นเขตการปกครองที่มีสถานะเทียบเท่ามณฑลของประเทศจีน แต่เนื่องจากประชาชนในซินเจียงมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวอุยกูร์ นับถือศาสนาอิสลาม รัฐบาลจีนจึงจัดตั้ง “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 เพื่อให้ชาวอุยกูร์มีสิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเองเป็นพิเศษ โดยถือเป็นเขตปกครองตนเองแห่งแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

แต่ว่านอกจากชาวอุยกูร์แล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่ในซินเจียงด้วย ทั้งชาวจีนฮั่น ชาวคีร์กีช ชาวมองโกล ชาวหุย ชาวคาซัค พื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อาศัยอยู่จำนวนมากได้รับการจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง อยู่ภายใต้เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ การให้สิทธิปกครองตนเองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สะท้อนจุดยืนของทางการจีน คือซินเจียงเป็นดินแดนที่มีหลากหลายวัฒนธรรม หลายชาติพันธุ์ และศาสนาอยู่ร่วมกัน

ซินเจียงเป็นพื้นที่สำคัญในเส้นทางสายไหมทางบก ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในสมัยโบราณ เชื่อมโยงจีนไปอินเดีย และตะวันออกกลาง หรือที่ในอดีตเรียกว่า เปอร์เซีย และไปสิ้นสุดที่ทวีปยุโรป

หากดูจากแผนที่ในปัจจุบัน ซินเจียงมีพรมแดนติดต่อกับประเทศรัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันสำรองอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ผลิตแก๊สธรรมชาติใหญ่ที่สุดของจีน


ขบวนการแบ่งแยกดินแดน “เตอร์กิสถานตะวันออก” หวังเปลี่ยนซินเจียงเป็นรัฐอิสลาม

ด้วยลักษณะพิเศษทั้งด้านชาติพันธุ์และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ซินเจียงกลายเป็น “เป้าหมาย” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน กลุ่มก่อการร้าย และกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา โดยตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้ชื่อว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” ได้จุดกระแสว่า ชาวอุยกูร์เป็นเจ้าของดินแดนซินเจียงแต่เพียงผู้เดียว อิสลามเป็นศาสนาหนึ่งเดียวในซินเจียง และชาวอุยกูร์ในซินเจียงไม่ใช่คนจีน ขบวนการนี้มุ่งหมายที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามในซินเจียงและเอเชียกลาง

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีเหตุก่อการร้ายจากน้ำมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียงหลายร้อยครั้ง มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ทำให้ “ขบวนการอิสลามเตอร์กิชสถานตะวันออก” หรือ ETIM (East Turkestan Islamic Movement) ถูกสหประชาชาติขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้าย และรัฐบาลสหรัฐฯ เคยขึ้นบัญชีกลุ่ม ETIM เป็นองค์กรก่อการร้ายเช่นเดียวกัน แต่ว่าในปี 2563 นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปลดกลุ่ม ETIM ออกจากบัญชีรายชื่อองค์กรก่อการร้าย


ศูนย์นิทรรศการการต่อต้านการก่อการร้ายในซินเจียง ได้ไล่เลียงเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางระเบิดรถเมล์ สังหารอิหม่ามและครูสอนศาสนา ก่อจลาจล วางยาพิษประชาชน ลักลอบนำเข้าระเบิดและอาวุธ จี้เครื่องบิน เป็นต้น เหตุวินาศกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในซินเจียงเท่านั้น แต่ยังขยายปฏิบัติไปยังเมืองอื่นด้วย

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียงเคยก่อเหตุอุกอาจ ถึงขนาดที่เคยขับรถพุ่งชนประชาชนบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง และก่อเหตุไล่แทงประชาชนที่สถานีรถไฟเมืองคุนหมิงในปี 2557 ถือเป็นเหตุโหดเหี้ยมที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 31 คน บาดเจ็บ 141 คน และยังมีปฏิบัติการข้ามประเทศ ทั้งการสังหารนักการทูตจีนและนักธุรกิจชาวอุยกูร์ในคีร์กีชสถาน และเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธที่พรมแดนระหว่างจีน-เวียดนามด้วย

รัฐบาลจีนได้ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนในการจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียง ไม้แข็งคือ ใช้กฎหมายในการปราบปรามขบวนการก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็ชี้นำประชาชนให้แยกแยะว่าแนวคิดสุดโต่งไม่ใช่แนวทางของอิสลาม ชักจูงให้ประชาชนที่หลงผิดให้หวนคืนสู่สังคม

ส่วนไม้อ่อนคือ สร้างพัฒนาการเศรษฐกิจ เพราะเมื่อชาวซินเจียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็จะไม่หลงไปเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้าย โดยนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนโฉมซินเจียง ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีเหตุก่อการร้ายต่อเนื่องนาน 6 ปีแล้ว ประชาชนชาวซินเจียงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน


ในปีที่แล้ว GDP ของซินเจียงมีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านหยวน อยู่ในอันดับที่ 23 จาก 31 มณฑลของจีน และถ้าคิดเฉลี่ยเป็น GDP ต่อประชากร ซินเจียงจะอยู่ในลำดับที่ 19

ถ้าหากดูเรื่องคุณภาพชีวิต จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index) ซึ่งประมวลผลจากอายุขัย การศึกษา และรายได้เฉลี่ยของประชากร จะพบว่าในปี 2564 ซินเจียงอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 31 มณฑลของจีน มีดัชนี HDI ที่ 0.738 ถือว่าประชาชนในซินเจียงมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง ตามหลังคนไทยที่มี HDI ที่ 0.8 อยู่ในระดับสูงมาก


พัฒนาการด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในซินเจียงที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมเมืองต่างๆ ในซินเจียง ไม่เพียงแค่ทำให้การเดินทางของผู้คนสะดวกสบายมากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างงานให้ชาวซินเจียง ทำให้ชาวซินเจียงได้ออกไปเห็นพื้นที่อื่นๆ ในประเทศจีน และเห็นโลกมากขึ้น ขณะที่ชาวจีนได้มาท่องเที่ยวและรู้จักซินเจียงมากขึ้นเช่นเดียวกัน

การพัฒนาระบบคมนาคมได้ช่วยให้ซินเจียง ที่เคยเป็นพื้นที่ห่างไกลเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ ของจีน เชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกันด้วย และแน่นอนว่า ระบบคมนาคมนี้ก็ยังใช้ในการขนส่งสินค้าจากจีนไปได้ไกลถึงยุโรป เป็นเหมือนการฟื้นคืนชีวิต เส้นทางสายไหมในยุคใหม่


ทางการจีนรู้ดีว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาการแบ่งแยกดินแดน คือ การครองใจประชาชนด้วยการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่แตกต่างกับพระราชดำรัสของในหลวง ร.๙ ที่เคยพระราชทานหลักการในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย
และการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย ก็คือหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา 


กำลังโหลดความคิดเห็น