xs
xsm
sm
md
lg

“Mother Chef” อาหารทะเลเพื่อสุขภาพ คว้ารางวัล GSB Change Maker 2023 โครงการความร่วมมือ ออมสิน-CIBA DPU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารออมสิน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) จัดกิจกรรมการประกวดสุดยอด GSB Change Maker 2023 ภายใต้โครงการอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ GSB Step & Boost up Program 2023 ในคอนเซ็ปต์ “Sustainable Growth ให้ทุกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”  โดยมีคุณบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และTops ท้องถิ่น ร่วมงาน ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

สำหรับสุดยอด GSB CHANGE MAKER 2023 ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ บริษัท เพิ่มทรัพย์บุญทวี จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 1 บริษัท กลิสเท็น ดีไซน์ จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 2 บริษัท ฮัก ณ เชียงราย จำกัด จากผู้ประกอบการในรอบชิงชนะเลิศทั้งหมด จำนวน 10 ราย

นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล กล่าวในฐานะเป็นประธานในพิธีว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ หรือ GSB Step & Boost up Program 2023 เป็นโครงการที่อยู่ในทิศทางการดำเนินงานของธนาคารออมสิน ผ่านแคมเปญ “ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อสังคม” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ประกอบการชุมชน SMEs และ SMEs Start Up มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขยายตลาดในช่องทางต่างๆ ทั้งนี้จากความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรในการลงพื้นที่ให้ความรู้ผู้ประกอบการและช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพมากขึ้น โดยเห็นได้จากผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบ Pitching แผนธุรกิจทั้ง 10 ทีม ได้ผ่านด่านคัดเลือกจนเป็นสุดยอดทีม GSB Change Maker 2023

“ธนาคารออมสิน ในฐานะธนาคารเพื่อสังคม พร้อมสนับสนุนโครงการดีๆในลักษณะนี้ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ จะเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงหวังว่าผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการและนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตมากขึ้นอย่างยั่งยืน” รอง ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าว

นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Start up กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ ในฐานะคณะกรรมการผู้ตัดสิน กล่าวว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นทีมที่ตอบโจทย์สังคมได้ครบทั้ง 5 มิติ คือ 1.มิติทางด้านเศรษฐกิจ 2.มิติทางด้านสังคม 3.มิติทางด้านชุมชน 4.มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม และ5.มิติทางด้านคุณภาพชีวิต เนื่องจากทีมดังกล่าวใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนในท้องถิ่นมารังสรรค์ให้มีมูลค่า รวมถึงการดึงชุมชนให้มีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ชัดเจน นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น จึงเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาสินค้าแบบชุมชนองค์รวม (Holistic Area Based) หรือการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมรายได้จะกลับไปอยู่ที่ชุมชนและสังคม

“หลังจากปิดโครงการธนาคารออมสินมีคลินิกดูแลให้คำปรึกษา ให้ความรู้ทางด้านการเงิน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสินค้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการหาตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งนี้ธนาคารยังมีแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ สำหรับแคมเปญของโครงการในปีถัดไปจะเน้นพัฒนา Startup ให้เติบโตเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการท่านใดสนใจเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการหรืออยากเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซด์ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) หรือสอบถามที่ Call Center 1115” นายสมชาย กล่าว


ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ โดยเน้นให้องค์ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ และการตลาด แก่ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแบรนด์ให้สามารถขายได้ หลังจากเข้าร่วมโครงการฯผู้ประกอบการมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทุกทีมเริ่มสร้าง Story ให้กับธุรกิจของตนเอง จนส่งผลให้มียอดขายทั้งในไทยและต่างประเทศ สำหรับทีมที่ชนะเลิศเป็นทีมที่ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างชัดเจน ที่น่าสนใจคือการ Pitching บนเวที สามารถเล่าได้ว่าทำอะไรกับชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งตรงกับโจทย์ของธนาคารออมสิน นอกจากนี้ผู้ชนะเลิศเป็นผู้ขับเคลื่อนชุมชนด้วยการหา Partner ในท้องถิ่น จึงมีความโดดเด่นในทักษะความเป็นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของการทำธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Scale Up ที่โตไว สิ่งที่คณะกรรมการอยากเห็น คือ การเติบโตไปด้วยกันระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนจะทำให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงอยากให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯทุกคนกลับมาทบทวนในเรื่องนี้ สุดท้ายนี้ในส่วนของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯในปีถัดไป หากอยากประสบความสำเร็จในธุรกิจต้องมองมิติให้ครบทุกด้านและเน้นสร้างความยั่งยืนให้มากขึ้น

นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ บริษัท เพิ่มทรัพย์บุญทวี จำกัด ทีมผู้ชนะเลิศ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ Product แบรนด์ Mother chef มาจากภูมิจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฝั่งตะวันออกเป็นทะเล ฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อเกิดวิกฤตสับปะรดล้นตลาด เนื่องจากราคาตกต่ำและเรือออกหาปลาไม่ได้ช่วงโควิด จึงทำให้เกิดไอเดียนำอาหารทะเลและสับปะรดมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่วนจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นอาหารทะเลเพื่อสุขภาพมีทั้งเมนูพร้อมทานและพร้อมปรุง และเป็นเจ้าแรกที่ทำเมนูใหม่ ยกตัวอย่างเช่น น้ำต้มส้มสับปะรดหรือน้ำพริกปลาทูสับปะรด เป็นนวัตกรรมอาหารที่แปลกใหม่ เราพยายามเอาวิถีชาวบ้านผสมผสานนวัตกรรมต่างๆ มาสร้างให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและเกิดความยั่งยืน อย่างไรก็ตามอยากขอบคุณธนาคารออมสินที่สร้างโอกาสให้ SMEs ขนาดเล็กมีตัวตนและเดินต่อไปข้างหน้าได้ จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเพื่อผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับรางวัลที่ได้รับมาจากความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่วนเงินรางวัลจะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ชุมชน คือ หมี่ทุเรียนป่าละอู และน้ำพริกแกงเขียวหวานก้อน

นางสาวจุฑามาศ บุญพงษ์ บริษัท กลิสเท็น ดีไซด์ จำกัด ตัวแทนทีมรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า ไอเดียการทำผลิตภัณฑ์จาก Automotive Waste หรือ ขยะยานยนต์ มาจากการทำโปรเจคก่อนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากการศึกษาพบว่าปัญหาของขยะชนิดนี้ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ จึงลองเอามาทำเป็นงานออกแบบเป็นเชิงเทกซ์ไทล์ เพื่อต่อยอดให้วัสดุดังกล่าวกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามรู้สึกเกินคาดมากที่ได้รับรางวัลจากธนาคารออมสิน เพราะเข้าร่วมโครงการฯเป็นปีแรก ส่วนเงินรางวัลที่ได้จะแบ่งเป็น 50-30-20 โดยส่วนแรกจะนำไป Develop ตัวของ Material รวมถึงเทคนิคของงานช่างฝีมือ ให้มีความซับซ้อนขึ้น ผลิตงานได้เร็วขึ้น อีก 30% จะทำเรื่อง Production เช่น ทำคลิปวีดีโอ ถ่ายแบบ และอยากลองเปิดหน้าร้านจริงจังเพิ่มส่วน 20% สุดท้าย จะเก็บเป็นทุนสำรองไว้สำหรับใช้ในอนาคต สุดท้ายนี้อยากขอบคุณโครงการนี้ที่ให้โอกาสเข้ามาร่วมโครงการ รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้พบปะผู้ประกอบการที่หลากหลาย ได้เรียนรู้ทั้งในกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย นอกจากนี้ยังได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้ามีโอกาสอยากเข้าร่วมอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น