xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ดาริกา อธิการบดี DPU หนุนใช้ 'มหาวิทยาลัย' เป็นพื้นที่สร้างความยั่งยืน ในงาน “GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมงานเสวนา “GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S” ในเวที End-to-end Waste Management Stage หัวข้อ Plastic Waste Collaboration; Building a Sustainable Future ภาคปฏิบัติของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดพลาสติกใช้แล้วเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดโครงการ Green University “ทิ้ง เทิร์น ให้โลกจำ” จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน



โดยการเสวนาประกอบด้วย "ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) "คุณวริทธิ์ นามวงษ์" ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) "คุณนาริฐา วิบูลยเสข" ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ "ผศ.ดร.เศกสันต์ อุดมศรี" ผู้ก่อตั้ง บริษัท วงษ์พาณิชย์กระบี่ จำกัด ได้มาร่วมเสวนา แชร์ประสบการณ์จากองค์กรของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และวิธีการร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับขยะพลาสติก พร้อมทั้งแบ่งปันและต่อยอดแนวคิด รวมไปถึงแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนให้ผู้ฟังทั้งภาครัฐ-เอกชน และจุดประกายแนวคิดใหม่ๆ ที่แต่ละองค์กรได้ทำเอาไว้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงให้บรรลุเป้าหมาย Sustainable Living ครอบคลุมทั้งมิติของ Business (การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) Decarbonization (การลดคาร์บอนเพื่อก้าวสู่ Net Zero) และ Circular Economy (End to End Waste Management & Inclusiveness )

DPU ทำเสมอมาและจะทำอย่าง 'ยั่งยืน' ต่อไปในอนาคต

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุว่า “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีวิสัยทัศน์ในการให้ความสำคัญเรื่องพื้นที่สีเขียวหรือสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบัน จะเห็นได้จากบรรยากาศมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยความร่มรื่นเป็นธรรมชาติ ซึ่งจากตรงนั้นเป็นต้นมาก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนเป็นอย่างมาก โดยระบุไว้อย่างชัดเจนใน Vison ขององค์กรที่ว่า DPU will be a major driving force in new business transformation for sustainable economic growth. และได้สร้างความตระหนักรู้ผ่านทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน ทัศนคติ กิจกรรม และงานวิจัย สำหรับนักศึกษาทุกคนและบุคลากรทุกคนในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะมีเรื่องของความยั่งยืนมาเกี่ยวข้อง โดยในปี 2016 ทางสถาบันได้เข้าร่วมโครงการ UI Green Metric World University Ranking และในปี 2021 ได้รับรางวัลอันดับที่ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน และครองอันดับ 4 ของประเทศไทย ตอนนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 140 ของโลกในเรื่องการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมิติที่ UI Green คำนึงถึงได้แก่ 1. Setting and Infrastructure 2. Energy and Climate Change 3. Waste 4. Water 5. Transportation 6. Education”

“เราพยายามทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดและตื่นตัวค่อนข้างมาก ซึ่งใน 6 มิติของ Green Metric ไม่ว่าจะการใช้อาคาร การจัดการการใช้พลังงานอย่างไรให้ดีมากที่สุด การกำจัดของเสีย การจัดการน้ำหรือการสัญจรภายในมหาวิทยาลัยที่สมัยนั้นไม่มีรถ EV เราก็พยายามจัดให้ใช้จักรยาน ใช้การเดินเท้าและการไม่ให้รถผ่านมหาวิทยาลัยในช่วงกลางวัน ขณะที่เรื่องการศึกษาความยั่งยืนเราให้นักศึกษารู้จักเรื่องของความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และทำต่อเนื่องก่อนจะก้าวขึ้นมาทำในเรื่องของ SDGs ซึ่งมองในภาพที่กว้างไปสู่ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยต้องการสร้างจิตสำนึกให้นักศึกษา เมื่อจบออกไปแล้วมีความนึกคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อมเหล่านี้”

“ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษา คือส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทุกปี ทาง DPU ได้เลือก SDGs 10 เป้าหมาย ในการเชื่อมโยงเข้าสู่พันธกิจด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 'เป้าหมายหลัก' ที่เราเลือก ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) เป้าหมายที่ 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) เป้าหมายที่ 10 : ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) เป้าหมายที่ 12 : แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) และเป้าหมายที่ 17 : ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships to achieve the Goal)

และในส่วน 'เป้าหมายรอง' ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 : มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) เป้าหมายที่ 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) เป้าหมายที่ 7 : พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) เป้าหมายที่ 13 : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายที่ 16 : สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace and Justice Strong Institutions)”

นอกจากนี้ ดร.ดาริกากล่าวว่า ในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็ได้สร้างหลักสูตร 'DPU Core for Sustainability' สำหรับนักศึกษาทุกคนในระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะเรียนคณะหรือสาขาใดก็ตาม ต้องเข้าเรียนในหลัก 3 Module ที่ว่าด้วย Science and Technology for Sustainable Living กับ Innovation for Sustainability และ Data Analytics for Sustainable Entrepreneurs สำหรับงานวิจัยด้านความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้โฟกัสในเรื่อง Decarbonization เรื่อง Digitalization for Sustainability เรื่อง Community development on Sustainability และเรื่อง Sustainable hospitality and aviation


DPU พร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกภาคส่วน เพื่อปลุกจิตสำนึก 'รักษ์โลก'

เมื่อถามถึงความท้าทายรวมไปถึงการร่วมด้วยช่วยกันกระจายองค์ความรู้เรื่องความยั่งยืนสู่วงกว้าง สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ “ดร.ดาริกา” เผยว่า “ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ กับทาง GC อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการขยะและพลาสติก รวมถึงการนำนักศึกษาไปทัศนศึกษากับ GC ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดความตื่นตัวและเห็นผลมากขึ้น โดยสถาบันการศึกษาจะมีนักศึกษาและบุคลากรที่สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใหม่ร่วม 4 พันคนในแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันขยายต่อ ชักชวน ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง”

“เรามีทั้งนักศึกษาที่จบออกไปและนักศึกษาที่เข้าใหม่ ทำให้สมาชิกของเรามีพลวัตตลอดเวลา ที่เราทำก็คือเรามีโครงการชื่อว่า D-point เรียกง่ายๆ ว่าโครงการคะแนนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ใครที่ทำกิจกรรมดีๆ เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในเรื่องของการจัดการขยะ การลดพลังงานหรือการกำจัดของเสียต่างๆ เราก็จะให้ Point ที่สามารถเอาไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย หรือ เป็นรางวัลปลายปีที่เป็น Token ฉะนั้นการกระตุ้นต้องมาควบคู่กันกับเครื่องมือ เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมถ้าไม่มีเครื่องมือเข้าไปช่วยมันก็ยากที่จะทำได้สำเร็จ ยกตัวอย่าง 'การคัดแยกขยะ' ต่อให้ตั้งถังขยะคัดแยกแต่บางทีด้วยพฤติกรรมที่เคยชิน บางคนอาจจะลืมนึก เป็นต้น นอกจากนี้เราต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เช่น ผู้ผลิตขวด แบรนด์เครื่องดื่ม ร้านค้า ผู้บริโภค สถานศึกษาเจ้าของสถานที่ และการจัดการขยะ”

“ที่อยากจะฝากคือ นอกจากทาง GC ที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเรา แต่อยากจะเชิญชวนบริษัท องค์กรธุรกิจต่างๆ มาร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้กับนักศึกษา และนำไปสู่ชุมชน เพราะนักศึกษาเราทำงานกับชุมชนผ่านกิจกรรมและหลักสูตรเยอะ ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ และเมื่อนักศึกษาเข้าสู่ภาคของการทำงาน ความรู้ ความพร้อม ที่พวกเราเตรียมไว้ให้กับเขาก็จะได้ใช้ขยายผลในองค์กรต่างๆ ต่อไปอีกไม่รู้จบ”

“เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องลงไปถึงระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อันเป็นจุดเริ่มต้น เช่นเดียวกับที่ครอบครัว ซึ่งสำคัญมาก ถ้าเขามีความรอบรู้และมีทัศนคติที่ถูกต้องตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย นี่คืออนาคตของเราในเรื่องความยั่งยืน” ดร.ดาริกากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ นอกจากเวทีเสวนา ภายในงานยังมีการประกาศผลการประกวดโครงการ 'Green University' ทิ้ง เทิร์น ให้โลกจำ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันภารกิจเก็บขยะเพื่อโลกโดยเฉพาะขยะพลาสติกผ่าน GC YOUเทิร์น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เฟ้นหาสุดยอดสถาบันสีเขียว ชิงทุนการศึกษา พร้อมถ้วยรางวัล Upcycling ที่สร้างคุณค่าจากพลาสติกใช้แล้ว และขยะ E-waste ซึ่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โดยมีนักศึกษาจาก 3 ชมรม อันได้แก่ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรม DPU SDGs Club และชมรมด้านนันทนาการ ร่วมรับรางวัล






กำลังโหลดความคิดเห็น