มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จับมือ MOU ร่วม 15 องค์กรในกลุ่มภาคใต้ พัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยึดหลักศาสนา และบูรณาการกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 อ.เมือง จ.ยะลา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้จัดพิธีลงนามโครงการลงนาม MOU กับองค์กรต่างๆ ในกลุ่มภาคใต้ ซึ่งมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กล่าวเปิดพิธีลงนาม
สำหรับการลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ อันจะยังประโยชน์ร่วมกันในด้านพัฒนาบุคลากร นักเรียน นักศึกษา และคุณภาพการจัดการการเรียนรู้ด้านอิสลามศึกษา โดยมีกรอบความร่วมมือที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และอุตสาหกรรมของประเทศได้ เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน และนักศึกษาผ่านโครงการการเยี่ยมชมสถานศึกษาในรูปแบบการศึกษาดูงาน ดำเนินโครงการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ในเครือข่ายศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมพัฒนานักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ในเครือข่าย ศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ผ่านโครงการฝึกอบรม และสัมมนา
ตลอดจนร่วมกันจัดบริการวิชาการแก่บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชน ในเครือข่ายศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 โดยมี ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ลงนามร่วมกับ 15 องค์กรในกลุ่มภาคใต้ เช่น ศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สตูล) สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะ มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมตาดีกา
แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กล่าวว่า การลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กับองค์กรต่างๆ ในกลุ่มภาคใต้ในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมยินดีกับสถาบันการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในโครงการ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะนำพาการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป โดยการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยึดหลักการของศาสนาและบูรณาการกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจเชิงวิชาการที่มุสลิมทุกคนจะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ ตลอดจนนำผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อไปพัฒนาผู้เรียนต่อไป