ผู้จัดการรายวัน360 - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดตัว Virtual Media Lab ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือนอย่างเป็นทางการ พื้นที่บ่มเพาะทักษะ ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ผสานเทคโนโลยีด้าน Virtual Production ภายใต้โครงการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาโลกเสมือนจริงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเชื่อมต่อโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้นักสร้างสรรค์ไทย ยกระดับคอนเทนต์ไทยสร้างปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ สู่ตลาดสากล
ปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คน ธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาต่างต้องปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยที่มีศักยภาพส่งออก ได้แก่ สาขาซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สาขาการกระจายเสียง รวมไปถึงการโฆษณาและอีเวนต์ จำเป็นต้องปรับตัวและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ด้วยการถ่ายทำในลักษณะ Virtual Production (VP) หรือการผลิตเสมือนจริง
โดยในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของ Global Virtual Production มีมูลค่าสูงถึง 6.4 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีมูลค่ามากกว่า 2.38 ล้านล้านบาท เป็นที่น่าจับตามองว่าเทคโนโลยีการผลิตงานสร้างสรรค์ด้วย Virtual Technology ในประเทศไทย จะสามารถพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ไปไกลระดับโลกได้อย่างไร
Virtual Media Lab พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของนักสร้างสรรค์ไทย
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การศึกษาของ CEA พบว่าปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่ของไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ พื้นที่และอุปกรณ์ในการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ ตลอดจนสินค้าและบริการในโลกเสมือนจริง เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน ต้องมีการลงทุนสูง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือดังกล่าวได้ ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือและสร้างผลงานใหม่ ๆ นำไปสู่การเสียโอกาสทางการแข่งขันของประเทศ”
CEA ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเติบโตในระดับสากลได้อย่างมีศักยภาพ จึงจัดทำห้องปฏิบัติการ Virtual Media Lab เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างประสบการณ์ ให้ผู้ใช้ได้ทดลอง ทดสอบ และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี Virtual Production
โดยจะเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะ สนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ตั้งแต่ระดับนักศึกษาไปจนถึงผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ให้ได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจน Upskill และ Reskill รวมทั้งสามารถเข้าถึงและเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำที่ล้ำสมัย เพื่อใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนได้อย่างเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ Virtual Media Lab จะยังเป็นเสมือน Springboard ที่เชื่อมต่อขีดความสามารถของบุคลากรภาคการศึกษา และภาคแรงงานสร้างสรรค์ไทย ให้เข้าสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยอย่างมืออาชีพ
Virtual Production คำตอบของวงการผลิตสื่อยุคใหม่
สำหรับ “Virtual Media Lab” ประกอบด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เปี่ยมคุณภาพกว่า 20 รายการ ซึ่งได้มาตรฐานการผลิต Virtual Production ของสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล ที่จะช่วยยกระดับการถ่ายทำด้วยระบบการผลิตเสมือนจริง (Virtual Production: VP) โดยเป็นการผสมผสานเทคนิคการใช้ VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ร่วมกับกระบวนจินต-ภาพคอมพิวเตอร์ (Computer-Generated Imagery: CGI) ผ่านการใช้เทคโนโลยีเกม Real-time Engine นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลแบบ Full LED Screen Virtual Production Studio ขนาด 45 ตารางเมตร สามารถถ่ายทำคอนเทนต์ในรูปแบบ Immersive Experience ที่ตื่นเต้น เร้าใจ และระบบ IN-CAMERA VISUAL EFFECTS (ICVFX) รวมถึงสามารถทำ Post-Production ด้วยระบบ Render ระดับ High Performance ที่ให้ภาพคมชัด
นอกจากการเสริมสร้างศักยภาพองค์ประกอบของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ด้วยการสร้างห้อง Virtual Media Lab แล้ว CEA ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งนับเป็นการพัฒนาบุคลากรภาคการศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งต่อไปยังภาคตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ CEA ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง Cloud 11 ฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมเสริมศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก
Virtual Media Lab จึงเป็นศูนย์กลางในการฝึกฝนและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ สำหรับนักศึกษาและแรงงานสร้างสรรค์ โดยเพิ่มบุคลากรและสร้างตำแหน่งงานในกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้หลากหลาย ทั้งในกลุ่ม Technical Artist และ Creative Technologist ตลอดจนสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในการลดต้นทุนการผลิตอีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ของเศรษฐกิจโลกเสมือน รวมทั้งจุดประกายแรงบันดาลใจ จินตนาการไร้ขีดจำกัด และความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้แก่ประชาชนทั่วไปกว่า 62,500 คน ภายในปี 2570
“ผมเชื่อว่าห้อง Virtual Media Lab จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยยกระดับศักยภาพบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานสากล โดยจะสามารถสร้างคอนเทนต์ระดับโลกด้วยเนื้อหาและรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้เทียบเท่าสากล จนนำไปสู่การพัฒนามูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตอีกด้วย” ดร. ชาคริต กล่าว
ทั้งนี้ห้อง Virtual Media Lab มีกำหนดเปิดให้เยี่ยมชมและใช้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2566 ณ ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ