xs
xsm
sm
md
lg

สสว. สำรวจความคิดเห็น SME ต่อผปก.ต่างชาติในพื้นที่ พบ SME ร้อยละ 11.5 ต้องแข่งขันผปก.ต่างชาติโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว. สำรวจความคิดเห็น SME ต่อผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ พบผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 11.5 เผชิญการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคือ ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โรงแรม/ที่พัก แต่พนักงานและสินค้า/วัตถุดิบในการผลิตหรือให้บริการยังมาจากการใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก ผู้ประกอบการ SME ยังมีความกังวลเพียงเล็กน้อยต่อการมีผู้ประกอบการต่างชาติ โดยมองข้อได้เปรียบเรื่องเอกลักษณ์ของสินค้าและการเข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ ส่วนข้อเสียเปรียบเป็นเรื่องการพัฒนาสินค้า เงินทุนและความรู้ทางการตลาด แต่วอนให้ภาครัฐช่วยออกมาตรการจำกัดจำนวน/ประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติในแต่ละพื้นที่ และเร่งตรวจสอบ/ควบคุมนอมินีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับความคิดเห็นของ SME ต่อผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,678 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 57.5 มีลูกค้าเป็นคนไทยเท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 42.5 มีลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการและภาคการค้าที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งแหล่งที่มาของสินค้าหรือวัตถุดิบของธุรกิจ SME ร้อยละ 91.3 ใช้จากแหล่งผลิตในประเทศ และร้อยละ 8.7 ใช้ทั้งจากแหล่งผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยช่องทางการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 42.8 มาจากผู้ประกอบการคนไทย รองลงมาร้อยละ 33.8 มาจากผู้ประกอบการต่างชาติในรูปแบบออนไลน์ ร้อยละ 12.6 มาจากผู้ประกอบการต่างชาติในรูปแบบออฟไลน์ และร้อยละ 10.8 ตอบว่ามากกว่า 1 ช่องทาง

 
สำหรับประเทศแหล่งที่มาหลักของสินค้าหรือวัตถุดิบนำเข้า ได้แก่ จีน เป็นสินค้าในกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภค ญี่ปุ่น เป็นสินค้าในกลุ่มธุรกิจร้านซ่อมรถ/ร้านอะไหล่รถยนต์ ปากีสถานและอินเดีย เป็นสินค้าในกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้า/สิ่งทอ และกลุ่มผลิตอัญมณี/เครื่องประดับ โดยสัดส่วนต้นทุนการซื้อสินค้านำเข้าต่อต้นทุนรวมสินค้าทั้งหมดแบ่งตามช่องทางการซื้อสินค้านำเข้าพบว่ามีต้นทุนการใช้สินค้านำเข้าในช่วงร้อยละ 1-20 และหากเป็นการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนต้นทุนที่สูงขึ้น
 
ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 11.5 เผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ โดยเฉพาะใน กรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวของภาคเหนือและภาคใต้ ตามลำดับ แต่มีร้อยละ 30 ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ โดยในพื้นที่ใกล้เคียงกิจการของ SME ส่วนใหญ่จะมีธุรกิจต่างชาติไม่เกิน 10 ราย ซึ่งลักษณะธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหาร/เครื่องดิ่ม และโรงแรม/ที่พัก โดยเป็นการลงทุนจากผู้ประกอบการจีน ญี่ปุ่น เป็นสำคัญ
 
การประเมินธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติที่มีหน้าร้านหรือโรงงานในพื้นที่โดยรอบกิจการของ SME พบว่า พนักงานและสินค้า/วัตถุดิบในการผลิตหรือบริการมาจากทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการ SME ไทย ยังมีความกังวลเพียงเล็กน้อยต่อการมีผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ โดยมองว่าตนเองมีข้อได้เปรียบ ในเรื่องเอกลักษณ์ของสินค้าและการเข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ ส่วนที่คิดว่าเป็นข้อเสียเปรียบเป็นเรื่องของการพัฒนาสินค้า เงินทุน และความรู้ทางการตลาด และผู้ประกอบการเกือบร้อยละ 60 มองว่าการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติเป็นผลบวกมากกว่าผลลบ เพราะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ได้เรียนรู้ทักษะหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนด้านผลลบมองว่าทำให้การแข่งขันสูง รองลงมาคือ ลดส่วนแบ่งทางการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
 
ผู้ประกอบการ SME ไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนการรับมือกับธุรกิจต่างชาติในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอแนะความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุด คือ การออกมาตรการจำกัดจำนวนและประเภทของธุรกิจต่างชาติในแต่ละพื้นที่เพื่อลดการกระจุกตัว รองลงมาคือ เร่งตรวจสอบและควบคุมการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ การส่งเสริมการพัฒนาทักษะ/ความรู้ในการทำธุรกิจ เพื่อให้ SME สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ มาตรการการเก็บภาษีที่ต้องมีความแตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบการคนไทยและคนต่างชาติ โดยผู้ประกอบการต่างชาติควรมีสัดส่วนการจ่ายภาษีที่เยอะกว่า และส่งเสริมให้มีการจ้างงานแรงงานในพื้นที่มากกว่าการนำแรงงานมาจากประเทศของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการสร้างรายได้และอาชีพ
 
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่พบเจอธุรกิจต่างชาติในพื้นที่โดยรอบกิจการ กว่าร้อยละ 55 คาดการณ์ว่าจะยังไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ตนเอง เนื่องจากไม่ใช่เขตที่มีแหล่งเศรษฐกิจสำคัญทำให้ไม่อยู่ในเป้าหมายของนักลงทุน โดยประเมินว่าการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม/ที่พัก รวมไปถึงภาคการค้าสินค้าอุปโภค/บริโภค ซึ่งจะอยู่ในเขตพื้นที่เมืองหลัก และเมืองท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 65.3 ยังไม่กังวลต่อการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติ เพราะมีความเชื่อมั่นต่อฐานกลุ่มลูกค้าและความเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 34.7 ที่มีความกังวล เนื่องจากข้อเสียเปรียบด้านเงินทุนและเครือข่ายการเข้าถึงต้นทุนที่ถูกกว่า โดยสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือมากที่สุด คือ การกำหนดขอบเขตการประกอบกิจการของต่างชาติให้ชัดเจนเพื่อควบคุมผลกระทบที่มีต่อ SME คนไทย และมีมาตรการส่งเสริมธุรกิจ SME ในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น