สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งค่าปัจจุบันและคาดการณ์ ผลจากการกลับมาของกำลังซื้อช่วงวันหยุดยาว รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 52.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคธุรกิจสำคัญ ยกเว้นภาคการผลิต โดยมีผลจากผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตามการเดินทางและการท่องเที่ยวของคนในประเทศที่พุ่งสูงในช่วงวันหยุดยาวในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแม้เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัวลง แต่ทุกภาคธุรกิจยังมีความกังวลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากกลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิต
ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ดัชนีด้านคำสั่งซื้อโดยรวม อยู่ที่ระดับ 62.1 จากระดับ 59.4 รองลงมา ได้แก่ ด้านกำไร อยู่ที่ระดับ 53.6 จากระดับ 51.2 ด้านต้นทุน อยู่ที่ระดับ 33.3 จากระดับ 31.7 ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ อยู่ที่ระดับ 59.0 จากระดับ 57.5 และการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 50.8 จากระดับ 50.6 ขณะที่ด้านการลงทุนปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 53.1 จากระดับ 54.7 ตามลำดับ โดยค่าดัชนีฯ เกือบทุกองค์ประกอบยังคงอยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก ยกเว้นด้านต้นทุนที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าฐาน ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนโดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังปรับสูงขึ้น
เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจภาคการค้า ภาคการบริการและภาคธุรกิจการเกษตรขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนของการเดินทางและการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว โดย ภาคการค้า มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 50.0 จากระดับ 47.4 โดยเฉพาะการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งการค้าปลีกและการค้าส่งปรับตัวดีขึ้น รวมถึงกลุ่มการค้าและการซ่อมบำรุงยานยนต์ที่มีการเข้าใช้บริการมากขึ้น เพื่อตรวจเช็คความพร้อมของยานยนต์ก่อนการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว รองลงมา คือ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 52.8 เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมกับภาคเหนือและภาคใต้
ในขณะที่ธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การก่อสร้าง ชะลอตัวลงจากการรอผลการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งกระทบกับการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในปีงบประมาณต่อไป และภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 55.5 จากระดับ 53.2 ขยายตัวในหลายพื้นที่ ทั้งการทำกสิกรรม รวมถึงการทำประมง เนื่องจากยังเป็นฤดูกาลเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มผลไม้เมืองหนาวเข้าสู่ตลาด ในส่วนภาคการผลิต ซึ่งค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 51.1 จากระดับ 51.5 สาเหตุจากความกังวลด้านต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสาขาที่มีต้นทุนการขนส่งสูง เช่น ผลิตไม้ ผลิตโลหะที่กำลังเผชิญกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการผลิตอาหารยังขยายตัวจากกำลังซื้อที่ได้อานิสงส์การขยายตัวของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ส่วนใหญ่ค่าดัชนีอยู่ระดับสูงกว่าค่าฐานที่ 50 โดย 3 ภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจการเกษตร โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 47.7 ผลจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีกับทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจการเกษตรที่ได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น รองลงมา ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.2 จากระดับ 53.9 เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่งผลดีกับภาคการค้า โรงแรมและที่พัก ร้านอาหารและบริการนวด สปา ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ลำไยซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 52.4 เศรษฐกิจในพื้นที่ได้รับอานิสงส์จากความใกล้กรุงเทพฯ ทำให้เกิดการเดินทางและจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาว อีกทั้งมีกำลังซื้อเพิ่มจากภาคการเกษตรที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 49.8 จากระดับ 50.0 ธุรกิจภาคการค้าและบริการ รวมถึงภาคการผลิตบางสาขา เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มไม้และโลหะ ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากต้นทุนสินค้าและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนภาคธุรกิจการเกษตรด้านประมงยังขยายตัวได้ดีจากการบังคับใช้กฎหมายฤดูน้ำแดงที่ห้ามจับสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถขายได้มากขึ้น ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 55.2 ภาพรวมธุรกิจชะลอตัวลงจากฐานที่มีการขยายตัวไปก่อนหน้านี้ และต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับต้นทุนธุรกิจ อย่างไรก็ตามสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร บริษัททัวร์และรถตู้เหมาไม่ประจำทาง ยังขยายตัวได้ดี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 49.3 จากระดับ 50.1 เศรษฐกิจในพื้นที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตเสื้อผ้า ไม้และพลาสติก จากต้นทุนค่าขนส่งเป็นสำคัญ และได้อานิสงส์จากวันหยุดยาวไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ส่วนภาคธุรกิจการเกษตรในพื้นที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงฤดูเพาะปลูก
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.2 จาก 52.2 จากสัญญาณการเดินทางและการท่องเที่ยว ของทั้งคนไทยและต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากว่าที่รัฐบาลใหม่
ผลสำรวจผู้ประกอบการ SME สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดในเดือนนี้ คือ การกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มธุรกิจภาคการค้า อาทิ เงินสนับสนุนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง ต้องการให้ดูแลด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย อาทิ การควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ และการควบคุมค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น