xs
xsm
sm
md
lg

ออกสตาร์ทปั้น “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” 1.5 หมื่นราย ผ่าน 5 หมวดอาชีพ กระจายรายได้กว่า 100 ลบ. เริ่ม 30 มกราคมนี้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายใบน้อย สุวรรณชาตรี
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าโครงการ “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกระตุ้นการสร้างรายได้ในชุมชน โดยมุ่งสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใน 5 หมวดอาชีพ ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตของใช้ของตกแต่ง และงานบริการซึ่งจะถ่ายทอดความรู้ผ่านวิทยากรและผู้มีความรู้เฉพาะทาง ด้วยการสร้างความรู้ให้กับผู้เข้าอบรมนำร่องในพื้นที่ผ่านศูนย์ DIPROM CENTER ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฝึกอบรมวันที่ 30 มกราคมนี้ ซึ่งคาดว่าในช่วง 6 เดือนแรก จะสามารถสร้างนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมได้ทั้งสิ้น 15,600 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งงานใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่จุดในประเทศ ทำให้ชุมชนหลายแห่ง เกิดปัญหาการว่างงาน ขาดแหล่งรายได้ ส่งผลให้การหมุนเวียนของเม็ดเงินที่จะพัฒนาเศรษฐกิจกระจายไม่ทั่วถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ริเริ่มปฏิรูปการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย "MIND" ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจด้วยการชี้ช่องทางในการประกอบอาชีพ และผลักดันองค์ความรู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริง ทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเกิดผลิตภัณฑ์และงานบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่

“ดีพร้อมได้เตรียมพัฒนาความรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพและต่อยอดทางธุรกิจ โดยแบ่งการอบรมเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่งและงานบริการ ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบเป็นอาชีพได้จริง และยังสามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นเส้นทางการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งนับเป็นฟันเฟืองสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะก่อให้เกิดทั้งการจ้างงาน ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคและบริบททางเศรษฐกิจที่ในปัจจุบันความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งถือเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนแบรนด์จากชุมชนให้มีโอกาสแข่งขันและเป็นที่รู้จักผ่านช่องทางการจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และ ออฟไลน์ได้อีกด้วย”

นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้ “ดีพร้อม” จะถ่ายทอดความรู้ผ่านวิทยากรที่มีความรู้และมากความสามารถ อาทิ ครูช่างหัตถศิลป์ และปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งจะมอบความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าอบรมตลอดระยะเวลาโครงการ 6 เดือน โดยเป็นการเรียนในรูปแบบระยะสั้น วันละ 2 วิชา รายวิชาละ 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย 1) การแปรรูปอาหาร อาทิ การทำแซนวิช เครปเย็น กิมจิ และน้ำสลัด 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาทิ ลูกประคบจากธัญพืช สบู่สมุนไพร ยาหม่องจากน้ำมันกัญชา 3) การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาทิ ชุดแฟนซีสุนัข เทคนิคการสกรีนเสื้อ ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ 4) ของใช้ของตกแต่ง อาทิ การเพ้นท์ลวดลายบนภาชนะ พวงกุญแจตัวอักษร การปั้นตุ๊กตา และ 5) งานบริการ อาทิ แต่งหน้าทำผม เทคนิคการเพ้นท์เล็บ เทคนิคเสริมดวงชะตา โดยการเรียนการสอนจะยึดตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่

และเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการของชุมชน ซึ่งจะนำร่องใน 13 พื้นที่ ผ่านศูนย์ DIPROM CENTER ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายระยะแรกช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน จะปั้น“นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” ผ่านการอบรมที่จะจัดขึ้นตามรูปแบบเฉพาะของแต่ชุมชน รวมทั้งสิ้น 15,600 คน ก่อนจะขยายไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมนี้ เป็นต้นไป และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท

“การปั้น “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” เป็นเป้าหมายที่ดีพร้อมให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มากยิ่งขึ้นตามแนวคิด “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ซึ่งจะเป็นการยกระดับชีวิตของประชาชนในชุมชนเกิดการสร้างรายได้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการสร้างอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างให้เกิดระบบการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน ที่จะทำให้เกิดการเติบโต ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างอาชีพใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ กระจายไปอย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความสุข ตามแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐบาล” นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น