การทำธุรกิจไม่ง่าย...เเต่ไม่ไกลเกินฝัน บางครั้งโอกาสก็มาจากสิ่งใกล้ตัวเรา อย่างเมนูอาหารที่เราชื่นชอบที่สุดก็เป็นได้
เปิดเส้นทาง “มากกว่าเส้นบะหมี่” ของยูไนเต็ด อุตสาหกรรมอาหาร เจ้าของเเบรนด์ดังอย่าง “หมื่นลี้” “มัมปูกุ” “เส้นเงิน” และ “เส้นไหม”
ความสำเร็จที่มาจากความตั้งใจ ไม่ย่อท้อ จังหวะตลาดและความต้องการของผู้บริโภค นำมาพลิกโฉมสินค้าธรรมดาที่มีขายตามตลาดทั่วไป ให้ “เเตกต่าง” เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร
วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ “ลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต” กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ถึงการปั้นธุรกิจจากศูนย์ให้ขึ้นสู่ SME ชั้นนำ กลยุทธ์จับใจลูกค้า ก้าวต่อไปและทิศทางธุรกิจหลังยุค COVID-19
ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน “ลาวัลย์” ทำงานเป็นนักบัญชีตามที่ได้ร่ำเรียนมาในบริษัทของครอบครัวที่ทำเกี่ยวกับการส่งออกอาหาร ตอนนั้นเธอเองยังไม่มีความคิดจะทำธุรกิจของตนเองเลยเเม้เเต่น้อย
แต่ด้วยความชื่อชอบในการทําอาหารและชอบรับประทาน “เส้นบะหมี่” มายาวนาน ประกอบกับช่วงนั้นได้ให้กำเนิดลูกสาว ด้วยความรักและความชื่นชอบ ผสมกันเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้คิดที่จะสร้าง “สิ่งใหม่” สร้างชีวิตใหม่เพื่อเป็นรากฐานไว้ให้ลูก
“ตอนนั้นพอตัดสินใจได้ว่าเราจะทำอะไร ก็เริ่มสะสมทุน เก็บเล็กผสมน้อย พยายามศึกษาหาความรู้ด้าน Food Science ด้วยตนเองและไปปรึกษามหาวิทยาลัยเพื่อทำวิจัยต่างๆ ค่อยๆ วางเเผนธุรกิจเเละศึกษาตลาดเรื่อยมาโดยไม่ย่อท้อ“
หลังฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์นานถึง 7 ปี จึงเปิดโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ขึ้นมาในปี 2545 ภายใต้ชื่อบริษัท ยูไนเต็ด อุตสาหกรรมอาหาร จํากัด เป็นโรงงานเล็กๆ ในเขตสายไหม มีเครื่องจักรแค่ไม่กี่เครื่อง มีพนักงานรุ่นเเรกเพียง 6-7 คนเท่านั้น
โดยเริ่มด้วยการผลิตบะหมี่และแป้งเกี๊ยวที่ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ชูจุดเด่นคือ ความเเตกต่างด้วยคุณภาพ เจาะใจคนรักสุขภาพ สะอาดเเละปลอดภัย เหมือนทําให้คนในครอบครัวรับประทานเอง
แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะมีการสำรวจตลาดจนแน่ใจแล้วว่า แบรนด์เส้นบะหมี่ที่เจาะลูกค้ารายย่อยยังมีโอกาสธุรกิจอีกมาก แต่พอลงมือทำจริง...ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นเช่นนั้น
ช่วงแรกๆ สินค้าของยูไนเต็ดฯ ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากตลาดสมัยนั้นยังคุ้นชินกับเส้นบะหมี่ที่ต้องมีสีสดจัด อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็มักจะมี “เจ้าประจำ” ของตัวเองอยู่แล้ว การเป็น “เจ้าใหม่” จะเข้าไปบุกขายในตลาดสดนั้น ต้องฝ่าฟันสงครามการแข่งขันที่สูงมาก
“ลาวัลย์” จึงกลับมาทบทวนถึง “เส้นทางของตัวเอง” โดยยึดความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ และต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ “แตกต่าง” ไม่เหมือนใครในตลาด
ด้วยการพิถีพิถันทุกกระบวนการตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ เช่น การใช้แป้งสาลีที่ไม่ฟอกขาว เลือกใช้ไข่ที่สดสะอาดเลี้ยงจากฟาร์มปิด การใช้ผงผักธรรมชาติเพื่อทำ “สีเส้น”
รวมถึงใช้นวัตกรรมกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทําให้สินค้ามี Shelf-life “เก็บรักษาได้นาน” กว่าบะหมี่ทั่วไป แป้งเหนียวนุ่ม และไม่ขาดง่าย แม้เข้าช่องแช่เย็นหรือช่องแช่แข็ง มีการผลิตที่สดใหม่ วันต่อวันแบบ Made-to-Order ทำเส้นตามความต้องการของลูกค้า
จากการยกระดับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้เส้นบะหมี่ของยูไนเต็ดฯ ไปเตะตาเชนร้านอาหารเจ้าใหญ่ในไทย ทั้งร้านสุกี้-ปิ้งย่างชื่อดังที่มีสาขาทั่วประเทศ เลือกให้เป็นซัปพลายเออร์
นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทําให้ธุรกิจเริ่มมีผลกําไรใน 3 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท สินค้าของยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหารได้เข้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และโมเดิร์นเทรดอย่างกว้างขวาง ทั้งแม็คโคร ท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ แม็กซ์แวลู เดอะมอลล์ และบิ๊กซี ฯลฯ
“ช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงที่ยากลำบากมาก ทุกอย่างตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน มีอุปสรรคเเละปัญหาเข้ามาทุกวัน แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ทำต่อไป ไม่ทิ้งความฝัน ต้องขอบคุณตัวเองเเละครอบครัวที่ตอนนั้นยังมีความหวัง หวังว่าถ้าเราทำสินค้าดีอย่างไรก็ต้องขายได้ และในที่สุดก็ผ่านพ้นจุดต่ำสุดนั้นมาได้”
ในวันนี้ ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหารก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจชั้นนําในวงการผู้ผลิตและจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งสาลี เช่น เส้นบะหมี่สด แผ่นเกี๊ยวจีน แผ่นเกี๊ยวซ่า เส้นยากิโซบะ เส้นราเมน และเส้นอุด้ง ภายใต้แบรนด์คุ้นหูอย่าง ‘หมื่นลี้’ ‘มัมปูกุ’ ‘เส้นเงิน’ และ ‘เส้นไหม’ มีสินค้ารวมกว่า 80 รายการ ยอดผลิตต่อวันกว่า 6 ตันต่อวัน มีพนักงานราว 70 คน
โดยได้รับเครื่องหมายรับรองต่างๆ มากมาย เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต GMP และ HACCP จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เครื่องหมายรับรองฮาลาล เครื่องหมายเชลล์ชวนชิม และ Green Industry
ตลาดของกินไม่ได้อยู่ยั้งยืนยง แต่มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา
“เราต้องทำให้เเตกต่าง ผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้า เส้นบะหมี่ที่ไม่ใช่เเค่เส้นบะหมี่ เรียนรู้ในเรื่องของเส้น ทำผลิตภัณฑ์ที่คนอื่นทำไม่ได้”
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แบรนด์ก็ต้องปรับไม่หยุดนิ่ง “ลาวัลย์” เล่าว่า บริษัทได้จัดตั้งทีมวิจัยขึ้นมาเองเพื่อพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย ไปพร้อมๆ กับการมุ่งเป็นซัปพลายเออร์ ผลิตแบบ Mass Production ให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่างๆ รวมไปถึงมองหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพในผลิตและการให้บริการอย่างครบวงจร
จากการมองเห็นความสำคัญเทรนด์การ “รักสุขภาพ” ที่กำลังมาแรง จึงเลือกที่จะทำผลิตภัณฑ์ให้เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพที่คนเข้าถึงง่าย อย่างการออกเส้นบะหมี่ผักโขม เส้นบะหมี่เจ ฯลฯ
โดยในปีหน้ายูไนเต็ดฯ กำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จากธัญพืช เเละเจาะกลุ่มคนไม่รับประทานเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ รวมไปถึงแผนจะขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ส่งไปยังเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และกลุ่มอาเซียนอย่างเมียนมา ลาว มาเลเซีย เป็นต้น
ส่วนเเผนการเพิ่มช่องทางการขายนั้น จะเน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือลูกค้าทั่วไปที่ซื้อผ่านช่องทาง ออนไลน์ เว็บไซต์ และตลาดสดใกล้บ้านมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตลาดออนไลน์” กำลังเฟื่องฟูจากอานิสงส์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้คนสั่งสินค้าผ่านช่องทางดีลิเวอรี และ “ทำอาหารเองที่บ้าน” มากขึ้น
“โชคดีที่เราทำระบบสั่งซื้ออนไลน์ไว้อยู่เเล้ว ตั้งแต่ก่อน COVID-19 พอเกิดวิกฤตจึงปรับตัวได้เร็วมาก ความท้าทายจึงไปอยู่ที่การพัฒนาให้จัดส่งสินค้าเร็วขึ้น เทรนนิ่งพนักงานให้มีทักษะที่หลากหลายและทันโลกดิจิทัล”
ตอนนี้สินค้าของยูไนเต็ดฯ สามารถสั่งซื้ออนไลน์ได้หลายช่องทางทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ ซึ่งช่องทางผ่านไลน์ได้รับความนิยมมากที่สุดซึ่งจะมีการขยายไปวางจำหน่ายในอีมาร์เกตเพลส อย่างลาซาด้า ช้อปปี้ ต่อไปในเร็วๆ นี้
โดยยูไนเต็ดฯ ตั้งเป้าจะเติบโต 15-20% เท่ากับปีที่ผ่านมา แม้ว่าปีนี้จะเจอมรสุมโรคระบาด เเต่ก็ได้ยอดขายออนไลน์เข้ามาช่วยพยุงไว้ได้มาก
เรียกได้ว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาธุรกิจ “เส้นบะหมี่” ไปสู่การใช้นวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยได้พลังจาก “ทายาทรุ่น 2” ที่เข้ามาช่วยดูแลกิจการ ปั้นทีมออนไลน์และคิดค้นสินค้าใหม่ๆ เพื่อเจาะลูกค้าหลากหลายวัยมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่เเค่กลุ่มแม่บ้านและร้านอาหารอีกต่อไป
นับเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร...ที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว
ล่าสุดบริษัท ยูไนเต็ด อุตสาหกรรมอาหาร จํากัด เป็น 1 ใน 5 ผู้ประกอบการไทยที่คว้ารางวัลสุดยอดเอสเอ็มอีไทย Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับเป็นอีกแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจในยุค Next Normal
โดยเจ้าของเเบรนด์เส้นบะหมี่ ‘หมื่นลี้’ ‘มัมปูกุ’ ‘เส้นเงิน’ และ ‘เส้นไหม’ ได้รับรางวัลในมิติองค์กรที่มีการดําเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ
ตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ให้ความสําคัญต่อการสร้างธุรกิจอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ดําเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การจัดการขยะและของเสีย (เปลือกไข่) ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต มาแปรรูปเป็นน้ำ EM (Effective Micro-organisms) เพื่อนําไปช่วยบําบัดน้ำเสียในชุมชน และการจัดการเศษแป้งสาลีที่เหลือจากกระบวนการผลิต ให้นํากลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste)
พร้อมทั้งสนับสนุนในการเสริมสร้างพนักงานให้มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในงาน ความสามารถในทักษะที่หลากหลาย (Multi-skill) เพื่อสร้างองค์กรที่มีความสุขและก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน
“การได้รับรางวัล Bai Po Business Awards เป็นเหมือนพลังใจในการทำงานที่จะทำให้เรามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่อไป เดินหน้าไปกับ SME ไทยให้เติบโตไปด้วยกัน”
“ลาวัลย์” บอกเล่าบทเรียนของปี 2020 ที่ต้องฝ่าฟันสถานการณ์ COVID-19 ว่า หลังจากเจอวิกฤตนี้ทำให้เราคิดได้ว่า... อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่ต้องยึดถือคือ “ความยืดหยุ่น” ต้องใช้สติในการแก้ปัญหา ยอมรับเเละปรับปรุง ระดมสมองกันและมี “ทีมเวิร์ก” ที่ดีเเละแข็งเเกร่ง
การที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าได้นั้น จะต้องมีการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายสินค้าในตลาดที่กว้างขึ้น “รักษาตลาดเก่า หาลู่ทางตลาดใหม่” พัฒนาเเละให้ความรู้พนักงาน เเละคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร ทิ้งท้ายด้วยการฝากข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ว่า
“การทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือความตั้งใจและความอดทน ต้องเป็นนักต่อสู้ นักแก้ปัญหา เพราะต้องเจออุปสรรคตามมาเยอะมากเเละคาดไม่ถึง โดยหัวใจหลักคือการซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ด้วยการทำสินค้าที่มีคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่เชื่อถือของลูกค้า”