xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพาณิชย์เตรียมเปิดโรดแมปรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ฉบับผู้ประกอบการไทย หนุนภาคธุรกิจเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดโรดแมปรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ฉบับผู้ประกอบการไทย หนุนภาคธุรกิจเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนให้กับผู้ประกอบการ

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดโรดแมปรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ฉบับผู้ประกอบการไทย หนุนภาคธุรกิจเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต พร้อมชวนผู้ประกอบการรับฟังการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจงานเสวนาดังกล่าว สามารถเข้ารับฟังข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการค้าได้ ณ ห้องประชุม Auditorium อาคาร Thaibev Quarter คลองเตย (MRT ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ทางออก 2) ในวันพุธ ที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 08.30-13.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2345-1122, 0-2345-1059


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ สนค. เตรียมเปิดตัวโรดแมปด้านเศรษฐกิจและการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีแนวปฏิบัติในการรับมือกับภัยพิบัติ ที่สามารถผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ครอบคลุมทั้งประเด็นการเตรียมตัวและการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้

สำหรับโรดแมปด้านเศรษฐกิจและการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สนค.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและการค้าให้สามารถเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต

โดยไฮไลต์ของการเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ 2. การจัดการองค์กร 3. บุคลากรและเทคโนโลยี และ 4. บทบาทผู้นำ ซึ่งภายในงานจะมีการเจาะถึงกลยุทธ์ พร้อมล้วงลึกถึงแนวทางของโมเดลธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ผู้ประกอบการต้องรู้และสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อการบริหารความเสี่ยงโดยส่งผลกระทบต่อธุรกิจให้น้อยที่สุด

“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในครั้งนี้ สามารถสรุปเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างแรงหนุนในการรับมือด้านเศรษฐกิจและการค้า 2 แนวทาง ได้แก่ 1. แนวทางเชิงนโยบายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้า และ 2. แนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs มีแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งประเด็นการเตรียมตัวและการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว


ทั้งนี้ โครงการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กรมควบคุมโรค กรมนามัย กรมขนส่งทางราง กระทรวงต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานประกันสังคม และสถาบันการเงิน เวสเทิร์น ดิจิตอล ดุสิตธานีกรุ๊ป ฮิตาชิ ไอบีเอ็ม ไทยแอร์เอเซีย โตโยต้า ไมโครซอฟท์ Pwc UNIDO รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถเข้ารับฟังโรดแมปด้านเศรษฐกิจและการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย ภายในงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 08.30-13.00 น. ณ ห้องประชุม Auditorium อาคาร Thaibev Quarter คลองเตย (MRT ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ทางออก 2) หรือรับฟังผ่านระบบ ZOOM ได้ที่เว็บไซต์ https://shorturl.asia/JUYmA โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สภาอุตสาหกรรมฯ โทร. 0-2345-1122, 0-2345-1059












กำลังโหลดความคิดเห็น