xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาการค้าฯ เวิร์กชอปกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอีสานบนเร่งต่อยอดผลิตภัณฑ์-ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่อุดรธานี แนะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการพื้นที่อีสานตอนบนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ผลิตสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค เน้นทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ชี้ช่องใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพิ่มพื้นที่ส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2563 นี้ เพื่อพบปะหารือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ พร้อมจัดเวิร์กชอปภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ครั้งที่ 1

โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความสำคัญของตลาดการค้าเสรี และช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก




นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเกษตรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพบ้านหนองเป็ด อ.เมืองอุดรธานี ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ Pro Biotic สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สมุนไพรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด โดยใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรในพื้นที่มาต่อยอดพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพให้มีความหลากหลาย

ทั้งเครื่องสำอางและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น

สำหรับการจัดเวิร์กชอปได้มีการเสวนา เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” โดยมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ จากจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย และบึงกาฬ เข้าร่วมกว่า 120 คน ซึ่งได้ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี

ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้นำสินค้าเด่นที่มีคุณภาพมาตรฐานในพื้นที่มาร่วมจัดแสดง เช่น ผลิตภัณฑ์จากน้ำหมักเอนไซม์ ทั้งสบู่ทองกวาว น้ำยาปรับผ้านุ่มจากขนุน และแชมพู


รวมทั้งสินค้าคุณภาพส่งออก เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอมทอง หมอนขิดสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยางพารา และตะกร้าสานไม้ไผ่ เป็นต้น โดยได้รับคำแนะนำจากวิทยากรเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น

ที่สำคัญคือ การใช้เอฟทีเอเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายไปตลาดต่างประเทศ และให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว


นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งผลิตสินค้าผ้าทอที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ใช้ดอกบัวแดงที่มีจำนวนมากในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบย้อมผ้า มีจุดเด่นสีสวยคงทนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้

ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ และสามารถส่งออกได้ในตลาดการค้าเสรี เช่น สปป.ลาว และอาเซียน


กำลังโหลดความคิดเห็น