ในช่วงที่ผ่านมาจากประเด็นดรามาในโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการสัมภาษณ์ “เจ๊ติ๋ม” เจ้าของร้านโชวห่วย ที่ออกมาจุดประเด็นว่าแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อไม่ได้ ทำให้ถูกผลักดันไปทำผิดกฎหมายเพื่อความอยู่รอด ทำให้ต้องเป็นห่วงกระบวนการคิดของสังคมซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกเดียว และที่สำคัญมีร้านโชวห่วยจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ และยังคงเป็นร้านประจำชุมชน เพราะสัดส่วนจำนวนร้านเซเว่นในประเทศไทยเทียบร้านโชวห่วย คือ 1 ร้านเซเว่น ต่อ 50 ร้านโชวห่วย ดังนั้น โอกาสของร้านโชห่วยยังมีอีกมากมายและเป็นคนละตลาดกับคนที่มาซื้อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ มีร้านโชวห่วยจำนวนมากที่ปรับตัวสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ และตอบโจทย์ชุมชน และการตั้งคำถามที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
ดังนั้น วันนี้โชวห่วยต้องเลิกคิดว่าตัวเองแข่งกับร้านสะดวกซื้อ แต่ต้องคิดว่าเรากำลังแข่งกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หากวันนี้เจ๊ติ๋มมีแก้ว 3 ประการ บันดาลให้ไม่มีร้านสะดวกซื้อในโลก แน่นอนว่าโชวห่วยจะยังเป็นทางเลือกของลูกค้าหรือไม่ ลูกค้าก็จะยังคงหาวิธีที่จะได้ของที่ดีที่สุดอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ การไปซื้อของในห้างฯ ในซูเปอร์มาร์เกต ซึ่ง แจ็ก หม่า จากอาลีบาบา ก็บอกชัดเจนว่าลูกค้ายุคนี้พร้อมจะสั่งของออนไลน์ ลูกค้าพร้อมจะเปรียบเทียบราคา และลูกค้าจะมีทางเลือกมาขึ้นจากผู้เล่นระดับโลกที่ไม่มีกำแพงในการกีดกันการแข่งขันอีกต่อไป ดังนั้น การที่เจ๊ติ๋มมองมิติแบบตลาดปิดว่าการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็กนั้น เจ๊ติ๋มต้องเข้าใจว่าในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ รายใหญ่หรือเล็ก ใครไม่ปรับตัวล้วนไปไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายกลาง หรือว่ารายใหญ่ วันนี้ลูกค้าต้องการของที่ไม่หมดอายุ ต้องการของที่ไม่มีฝุ่นเกาะ มีการจัดโปรโมชัน ลูกค้าต้องการสะสมแต้ม ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ในอินเทอร์เน็ต ลูกค้ารู้ว่าของแบบไหนเหมาะกับตนเอง เฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าไม่ใช่ความผิดของร้านสะดวกซื้อ แต่ยุคนี้ลูกค้ามีทางเลือก และคนที่พร้อมสนับสนุนโชวห่วยก็มีทางเลือกในการเข้าไปซื้อของในร้านโชวห่วย
แต่คำถามที่สำคัญกว่า คือ โชวห่วยยุค 4.0 จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร หรือต้องปรับปรุงร้าน หารูปแบบร้านที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต?
เจ๊ติ๋มเคยเห็นบริษัท โนเกีย ออกมาทำคลิปบอกว่าทำไมแอปเปิลต้องออกไอโฟนหรือไม่ เจ๊ติ๋มเคยเห็นโกดัก ออกมาโวยบริษัทที่ทำกล้องดิจิทัลหรือไม่ เจ๊ติ๋มเคยเห็นโรงงานเย็บผ้าที่ต้องปิดตัวเพราะสู้ราคาในตลาดโลกไม่ได้หรือไม่ ออกมาโวยไนกี้หรือไม่ การที่ทุกคนต้องปรับตัวนั้นเป็นเพราะเราหยุดการหมุนของโลกไม่ได้ แม้กระทั่งคนในองค์กรใหญ่ๆ ยังต้องให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหาร นั่นก็เป็นเพราะการหยุดนิ่ง และการขอให้ทุกคนหยุดพัฒนาเพราะคุณแข่งขันไม่ได้ ไม่ใช่ทางออก แต่หากเป็นการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาต่างหากที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ หากเจ๊ติ๋มดูจำนวนผู้ประกอบการร้านโชวห่วยในประเทศไทย มีกว่า 600,000 ร้านค้า เราต้องมองว่า ทำไมเขาเหล่านั้นยังคงหาช่องว่างทางการตลาด ทำไมเขาเหล่านั้นทำโปรโมชันการขาย ทำไมเขาจัดทำรายการของหมดอายุ และที่สำคัญทำไมเขาถึงรู้จักลูกค้าของเขาทุกคน ดังนั้น ร้านโชวห่วยไม่จำเป็นต้องขายของเหมือนเดิม ร้านโชวห่วยสามารถปรับตัวเป็นอะไรก็ได้ที่ชุมชนต้องการโดยไม่ต้องทำผิดกฎหมายอย่างที่เจ๊ติ๋มกล่าวอ้าง เพราะมีผู้ที่เคยทำโชวห่วยมากมายที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ และตัวเลขร้านโชวห่วยก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เฮียมิ้ง” หรือ คุณบุญมี บุญยิ่งสนิท เป็นผู้ร่วมธุรกิจของ 7-Eleven รายแรกของไทย เรียกว่าเป็นบุคคลในตำนานเลยทีเดียว เรามาฟังเรื่องราวของการเริ่มต้นทำงานกับเซเว่นฯ การตัดสินใจเปิดสาขาอื่นๆ (จนปัจจุบันเปิดในละแวกเดียวกัน 5 สาขาแล้ว) พร้อมข้อคิดที่น่าสนใจ
สำหรับเรื่องราวของ “เฮียมิ้ง” เราขอแนะนำให้ลองดูคลิปที่เล่าเรื่องราวตลอด 26 ปีของการทำร้าน 7-Eleven ที่ส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นและทำให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน ในบทความนี้จะพาทุกท่านมานั่งคุยกับเฮียมิ้งเพิ่มเติมจากประเด็นในคลิปนี้ และคำถามที่หลายคนอยากทราบแบบสบายๆ กันครับ
สรุปข้อมูลที่น่าสนใจ
เฮียมิ้งเปิดร้านโชวห่วยมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ อยู่ที่เพชรบุรีซอย 5 เมื่อกระแส Convenience Store เริ่มมา เฮียจึงสนใจที่จะปรับปรุงร้านให้เป็นระบบและทันสมัยมากขึ้น เมื่อเปิด 7-Eleven หน้าที่ที่เคยทำเปลี่ยนไป ทำงานเป็นระบบ มีพนักงานต้องดูแล ตอนแรกเหนื่อยเพราะต้องปรับตัว แต่ไม่นานก็ลงตัวขึ้นมาก
เมื่อมีลูกค้าหนาแน่นขึ้น ทาง 7-Eleven แนะเฮียให้เปิดสาขาที่ 2 ในซอยเดียวกัน เฮียลังเลแต่ก็เปิด จากนั้นสาขาที่ 2 ช่วยแบ่งลูกค้าทำให้งานสบายขึ้น และหลังจากนั้นไม่นานชุมชนหนาแน่นขึ้น และรายได้ดีขึ้น
ปัจจุบันมี 7-Eleven ที่เป็นของเฮียในย่านนั้นทั้งหมด 5 สาขา สำหรับเพชรบุรี 5 ที่เคยลังเลว่าจะเปิดสาขาที่ 2 ใกล้กัน ตอนนี้ในซอยนั้นมีสาขาที่ 3 แล้ว ทุกอย่างลงตัว เฮียให้ลูกชายมาบริหารเต็มตัว
แรกเริ่มเดิมทีเฮียมิ้งก็ทำร้านโชวห่วยมาก่อนใช่ไหมครับ?
ใช่ครับ อยู่ที่เพชรบุรีซอย 5 เดิมทีเป็นร้านโชวห่วยขายของทั่วไป ตอนแรกเลยเนี่ยเป็นร้านของคุณพ่อผมมาก่อน จากนั้นผมก็มาดูแล เน้นไปทางขายถูก ขายปริมาณเยอะๆ คล้ายๆ กับขายส่ง พอขายถูกลูกค้าก็เยอะ ของเมื่อก่อนก็รับมาจากแม็คโคร หรือบางทีก็มีเซลส์มาติดต่อขายที่หน้าร้านก็มี บางครั้งเราไปเจอร้านโมเดิร์นเทรดที่ลดราคาสินค้าเยอะๆ เราก็ไปกว้านซื้อมาขายต่อ
สมัยนั้นเขาจะมีงานที่เรียกว่าสินค้าป้ายแดง เราก็ซื้อมาเยอะๆ แล้วก็มาขายต่อ ผมอ่านตามสื่อหนังสือพิมพ์เจองานอีเวนต์ลดราคา เราก็เลยสนใจที่จะไปซื้อมาขาย แต่มันก็จะเสียเวลา ไป-กลับก็วันหนึ่งแล้ว บางทีก็ต้องไปแย่งกับเขา สินค้าพวกนี้เนี่ยเป็นสินค้าหวังเรียกลูกค้าเข้าห้างฯ ไม่ใช่ว่าคุณอยากได้เท่าไหร่เขามีให้ เป็นของลดราคาที่มีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย
สมัยเฮียมิ้งนี่ทำร้านโชวห่วยมานานกี่ปีครับ?
ร้านโชวห่วยของผมเนี่ยเปิดอยู่สิบกว่าปีได้ครับ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเนี่ย 7-Eleven เพิ่งเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ตอนนั้นหลายคนน่าจะยังไม่รู้จักหรอก แต่ผมขยันอ่านขยันติดตามเรื่องของธุรกิจ แล้วเห็นว่ามี 7-Eleven มาเปิด
เมื่อ 30 ปีที่แล้วเนี่ยกระแสของ Convenience Store เริ่มมา ตรงข้ามซอยผมก็มี Convenience Store เจ้าหนึ่งมาเปิด ตอนนั้นคือยี่ห้อบิ๊กเซเว่น เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ทัน ก็มาเปิดอยู่ใกล้บริเวณร้านเรา และมีบ้างที่ลูกค้าเราหายไป
เราก็ไปเห็นรูปแบบของร้านเขาจัดเรียงสินค้าสวยงาม เราก็ชอบ สมัยนั้นถ้าผมมีโอกาสไปเที่ยวแถวพัทยา เราจะเริ่มเห็นมินิมาร์ทตามที่พักตากอากาศ มันก็จะเป็นรูปแบบร้านมีเชลฟ์วางสินค้า ติดกระจก ติดเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องคิดเงิน อันนั้นคือรูปแบบของมินิมาร์ทเจ้าแรกๆ
พอมีบิ๊กเซเว่นมาเปิด เราก็เห็นว่าน่าจะปรับปรุงร้านเราที่เป็นโชวห่วยให้มันเรียบร้อยดูดี เราเองก็เริ่มมีความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนร้านเราอยู่แล้วด้วย
แล้วเฮียมิ้งเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับ 7-Eleven อย่างไรครับ?
คืองี้ครับ พอ 7-Eleven เข้ามาตั้งสาขาที่เมืองไทยแล้วเนี่ย เขาก็ต้องเริ่มขยายธุรกิจ หาทำเล ช่วงนั้นก็มีประมาณ 20 สาขาเป็นของ 7-Eleven เอง ช่วงนั้นก็มีสาขาหนึ่งอยู่ซอยตรงข้ามผม คือซอยกิ่งเพชร
เราก็ไปดูรูปแบบร้านแล้วเปรียบเทียบกับบิ๊กเซเว่น กับเซเว่นฯ สมัยนั้นถ้าดูเทียบสินค้าบิ๊กเซเว่นมีเยอะกว่าเซเว่นฯ แต่เซเว่นฯ เนี่ยรูปแบบร้านใหญ่กว่า สวยกว่า สินค้าเน้นไปทางอาหารและเครื่องดื่ม ตอนนั้น Slurpee และพวกไส้กรอกดังมาก โดยเฉพาะไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่หากินได้ยากมาก ราคาโคนละ 6 บาท
ซึ่งทาง 7-Eleven เขาก็มีเจ้าหน้าที่ที่เขาหาทำเลเปิดร้าน แต่ตอนนั้นเขามาแบบไม่ได้เปิดเผยตัวนะว่ามาหาทำเลให้เซเว่นฯ เขาบอกว่ามีธุรกิจหนึ่งวานให้เขามาหาทำเลหน่อย
คำแรกเลยเขาถามว่า “เฮีย ทำร้านโชวห่วยนี่เหนื่อยมั้ย” แน่นอนแหละเราเหนื่อย เพราะว่าเป็นธุรกิจไม่มีใครช่วย ทำกันเองในครอบครัว ไม่มีระบบบัญชีรองรับ เหนื่อยน่ะมันเหนื่อยอยู่แล้ว แล้วเขาก็บอกว่า “เฮียสนใจรับเงินก้อนหนึ่งแล้วใช้ชีวิตสบายกว่านี้มั้ย” เราก็เฮ้ยอยู่ดีๆ มีคนมาแหย่ มายื่นข้อเสนอให้เราสบายกว่านี้ นั่นก็คือการเปิดร้านเซเว่นฯ ที่ทำให้ร้านเป็นระบบมากขึ้น ผมและแฟนปรึกษากันแล้วก็สนใจ จึงตกลงร่วมธุรกิจกับ 7-Eleven
หลังจากที่ร้านเฮียกลายเป็น 7-Eleven แล้วเนี่ย ธุรกิจเป็นยังไงบ้างครับ มีการปรับตัวเยอะไหม?
โอ้โห เราไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถดูแลร้านระดับนี้ได้ คือร้านมันใหญ่ รูปแบบร้านมันก็ทันสมัย สมัย 26 ปีที่แล้วเนี่ย 7-Eleven สาขาหนึ่งเหมือนห้างห้างหนึ่ง ตอนนั้นมันยังไม่ได้มีเยอะอย่างทุกวันนี้ ถ้าพูดถึงสมัยก่อน ถนนหนึ่งนะอาจจะมีแค่สาขาเดียว หนึ่งชุมชนจะมีเซเว่นฯ เดียวประมาณนั้น อย่างถ้าพูดถึงเซเว่นฯ ประตูน้ำ เราจะนึกภาพสาขานั้นออก มันไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้
เริ่มแรกคือเราต้องไปอบรม ต้องทำตามระบบที่เค้าเซตไว้ หน้าที่เราเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย มันต่างกันเยอะนะ อย่างเรื่องสินค้าเนี่ย เป็นหน้าที่ของ 7-Eleven เค้าจัดส่งให้เรา ก็คือตัดส่วนที่ต้องวิ่งไปซื้อเอง หรือแม้แต่การเลือกขายสินค้า กำหนดราคา จัดโปรโมชัน ก็ไม่ใช่หน้าที่เรา เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อ ข้างใน หน้าที่เราก็คือ ขายสินค้า บริหารร้าน บริหารพนักงานให้ได้ ตอนนั้นเรามีพนักงานอยู่ในความดูแลสิบกว่าคน และต้องทำงานตามระบบที่ 7-Eleven เค้าวางไว้ และให้ลูกค้าพึงพอใจกับร้านที่เราทำอยู่
แล้วตอนสมัยผมเนี่ย พนักงานล็อตแรกบริษัทหาให้หมด เค้าจะมีฝ่ายบุคคลรับสมัครพนักงานและอบรมเรียบร้อยแล้วค่อยส่งมาให้ผม ผมก็แค่มาบริหารงานต่อ ผมก็ต้องจัดการเวลาของพนักงานคือทำงานเป็นกะ ให้มันเข้าระบบของร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง
พอมาถึงรุ่นลูกของเฮีย งานที่เฮียเคยทำ รุ่นลูกยังทำอยู่เปล่าครับ?
ทุกวันนี้รูปแบบร้านเหมาะกับคนรุ่นใหม่นะ คือ 7-Eleven เค้านำระบบ IT เข้ามาใช้มากขึ้น ระบบการขายก็ผ่าน POS เป็นเครื่องคิดเงินซึ่งมันสามารถประมวลผลการขายได้ มีโปรโมชันมีอะไรก็คิดให้เสร็จตรงนั้นเลย
การสื่อสาร การบริหาร การจัดการมันทำงานง่ายขึ้นกว่ารุ่นของผม การประมวลข้อมูลก็ดีกว่าผมเยอะ แล้วมันก็เหมาะกับคนอย่างเค้า ล่าสุดเนี่ย สั่งสินค้าผ่าน Tablet ได้ สมัยผมทุกอย่างเป็น Manual จดลงกระดาษ ต่อมาก็มีใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตบ้าง มีโมเด็มต่อกับเครื่อง แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย
สุดท้าย เฮียมิ้งฝากไว้ว่า ทุกวันนี้ร้านโชวห่วยในซอยยังอยู่นะ บางครั้งสินค้าที่เราไม่ได้ขายก็เป็นความต้องการของคนในชุมชน พวกสินค้าที่ใช้ทำครัวเนี่ย 7-Eleven อย่างอาหารสด น้ำตาลปิ๊บ กะปิ น้ำมันพืชขายเป็นปี๊บๆ เราก็ไม่ได้ขาย มันขายคนละแบบ กลุ่มลูกค้า 7-Eleven โดยแท้ๆ เนี่ย จะเป็นกลุ่มคนทำงาน กลุ่มคนที่ซื้อกิน ไม่ได้ทำอาหารกินเอง ดังนั้น อยู่ที่มุมคิด อย่าเริ่มต้นด้วยการมองว่าคนอื่นไม่ดี แต่ต้องกลับมามองที่ตัวเรา เราจะพัฒนาอะไร ไปในแนวทางใด รูปแบบเดิมที่ทำมาหลายสิบปี ยังตอบสนองได้ดีในยุคปัจจุบันหรือไม่ ต้องเริ่มจากการเข้าใจลูกค้าในชุมชน และปรับตัว เพราะมีโชวห่วยจำนวนมากที่แข็งแกร่ง และเป็นร้านคู่ชุมชนอย่างสมดุล